นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ขณะที่ต่างประเทศต่างจับตาดูการปฏิรูปประเทศของไทย ตลอดจนโรดแมพในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง และเศรษฐกิจว่าจะเป็นไปได้จริงตามขั้นตอนที่ประกาศไว้หรือไม่
สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและนโยบายด้านการต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยถือว่าอยู่ในสถานการณ์พิเศษที่จะใช้การพบปะกันในเวทีประชุมระดับประเทศอาจไม่เพียงพอนัก ดังนั้นจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์เป็นรายประเทศเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ มากที่สุด ซึ่งทั้งนโยบายด้านการต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์ของภาคเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้มีความสอดคล้องกัน
นายสุรเกียรติ์ ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในปีหน้าจะมีทิศทางที่สดใส ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินไว้ว่า GDP ในปี 58 จะขยายตัวได้กว่า 5% แต่ยังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อจากนี้ คือ 1.ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 4-5 แสนคน 2.การส่งออก แม้ในเดือน มิ.ย.จะกลับมาเป็นบวก แต่ถือว่ายังฟื้นตัวได้ไม่เต็มศักยภาพ 3.มาตรการที่ทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและสร้างความเข้มแข็งเพื่อรองรับต่อการเปิด AEC ในปีหน้า 4.มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้ให้แก่ชาวนา โดยจะต้องไม่เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ 5.มาตรการช่วยเหลือคนยากจน ทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องไม่ใช่รูปแบบของประชานิยม "4-5 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายข้างหน้า และต้องเร่งออกนโยบายมาเพื่อให้ประเทศไทยโตได้ในปีหน้า เรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ ถ้าทำได้เร็วอาจจะทันในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนมาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐาน คสช.ทำได้ดีมากแล้ว แต่มันต้องใช้เวลา แต่เรื่องที่ผมเรียนนี้อาจจะมีผลได้ทันต่อ GDP ใน 2 ไตรมาสสุดท้ายนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้มุ่งสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 58" นายสุรเกียรติ์ กล่าวในงานสัมมนา Thailand is Back นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามควบคู่กันด้วย นั่นคือ ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และโรดแมพทางการเมืองของไทยว่าจะทำให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง และที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด