ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่การขยายตัวของบริษัทออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และขาดการสนับสนุนผลักดันจากทุกภาคส่วน
"บีโอไอ และสวทช. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างทรัพยากรบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีจำนวนเพียงพอต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้สมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ ทีซา เป็นผู้บริหารโครงการพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถในระดับที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีแนวคิดที่จะตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมภายในบีโอไอ เพื่อดูแลรับผิดชอบการพัฒนากำลังคนทางด้านนี้ และอาจจะส่งเสริมให้ทุนกับผู้ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2- ปริญญาเอก อีกด้วย
ด้านนายอภิเนตร อูนากูล นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ ทีซา(TESA) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาทีซา ในฐานะผู้บริหารโครงการได้ร่วมมือกับ 4 บริษัทชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด, บริษัท โตโยต้า ทูโช อิเล็กทรอนิกส์(ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไทยเจอร์เทค จำกัด ร่วมกับห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำหรับโครงการพัฒนากำลังคนทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เฟส 2 ในปีนี้ จะมีบริษัทชั้นนำสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็นดีอาร์ โซลูชั่น จำกัด, บริษัท ไซโจ เดนกิ อินเตอร์เนชั่น จำกัด, บริษัท เซลิซติกา จำกัด, บริษัท เวลโลกราฟ จำกัด, บริษัท โฟนนิกส์ จำกัด, บริษัท อินทรอนิกส์ จำกัด และบริษัท อินโคเทค ออโตเมชั่น จำกัด จึงมีการขยายห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการของ 6 มหาวิทยาลัยจากโครงการแรก และได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากห้องปฏิบัติการอีก 3 แห่ง จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ