(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมิ.ย. หดตัว 6.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 30, 2014 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือนมิ.ย. หดตัว 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์, ฮาร์ดดิสไดร์ฟ, เครื่องนุ่มห่ม, เครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 60.61%

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ลดลง เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดที่ประชาชนเร่งซื้อรถยนต์ในปีที่ผ่านมาตามนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้การผลิตเดือนมิ.ย. มีจำนวน 160,452 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 26.10%

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2557 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน ลดลง 10.46% แบ่งเป็นเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณ 1,000,000 คัน ลดลง 24.59% และเพื่อการส่งออก 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.37% โดยผู้ผลิตเริ่มขยายการส่งออกเพื่อชดเชยตลาดในประเทศที่ชะลอตัว

ขณะที่ดัชนี MPI ไตรมาส 2/57 หดตัว 5.0% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.5%

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวถึงแนวโน้มในครึ่งปีหลังว่า มีทิศทางดีขึ้นจากสถานการณ์ในประเทศที่เข้าสู่ความสงบ สร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นในการลงทุนและการบริโภค ประกอบกับการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/57 และคาดว่า MPI ในไตรมาส 4/57 น่าจะกลับมาเป็นบวกได้

"ความขัดแย้งทางการเมืองที่คลี่คลายลงทำให้การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาดำเนินการได้เต็มที่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศเริ่มฟื้นตัว" นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ สศอ.ยังไม่ปรับเป้า MPI ทั้งปี แต่คาดว่าน่าจะลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ประมาณ 1.5-2% พร้อมกับปรับลด GDP อุตสาหกรรมปีนี้เหลือโต 1-2% จาก 2.5% หลังตัวเลข MPI และ การส่งออกในครึ่งปีแรกไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ คือ โรดแมพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การอนุมัติแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกาศลดขนาด QE, เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว, อียูตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ