ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีสัญญาณทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 ขณะที่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสที่ 2 พบว่าหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -55.3 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ -37.7 ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61.2 จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 59.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง
การลงทุนภาคเอกชนทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักร ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -6.6 ต่อปี ขณะที่ยอดขายปูนซิเมนต์หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -2.4 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อไตรมาส สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -30.6 ต่อปี หดตัวในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -36.6 ต่อปี
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2557) พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมในไตรมาสที่ 2 (ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2557) ได้จำนวน 514.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว
ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนมิถุยายน 2557 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี ส่งผลทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป อินเดีย ตะวันออกกลาง ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นสำคัญ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าในหมวดเกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน ยังมีสัญญาณชะลอตัวในสาขาอุตสาหกรรมและบริการ สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 หดตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และอาหาร เป็นสำคัญ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ ยางพลาสติก เครื่องหนัง และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง สะท้อนภาพรวมของการดำเนินกิจการการผลิตที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.32 ล้านคน หดตัวร้อยละ -12.3 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวมากที่สุดได้แก่ กลุ่มเอเชีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปยังคงสามารถขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีสถานการณ์โรคระบาด
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะเริ่มมีแรงกดดันเงินเฟ้อและการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 168.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ยังมีอัตราการขยายตัวที่ลดลง 0.3% ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.4% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ขณะที่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึง 4.3% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 2.0%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 58 นั้น เชื่อว่าหากโครงการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็คาดว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ดีขึ้นมากกว่าปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตได้ถึง 5%