ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านของอินเดีย ถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยหลายสาขา ทั้งในด้านการทำการค้า การเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจการก่อสร้างวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลการเกษตร และอาหารแปรรูป เป็นต้น
"อินเดียเป็นตลาดที่น่าสนใจด้วยการขยายตัวของจีดีพีใกล้เคียงกับจีนที่ระดับ 10% แต่ผลจากการที่อินเดียขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และระเบียบราชการที่ล่าช้า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ควรจะเป็นภาคที่ใหญ่สำหรับอินเดียเพื่อสร้างงานจำนวนมาก กลับมีส่วนเพียง 15% ของจีดีพี ขณะที่ด้านพลังงานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ไฟฟ้าดับบ่อย และอาหารยังไม่เพียงพอกับประชากรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ จะเป็นโอกาสในการเข้าไปทำการค้า การลงทุนของไทย"
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวสูงขึ้น หลังจากที่นายโมดีเข้ามาบริหารประเทศ โดยมีแนวโน้มที่นายโมดีจะใช้ “คุชราตโมเดล" ที่นายโมดีเคยเป็นมุขมนตรีของรัฐนี้มาก่อน และสามารถผลักดันให้รัฐนี้ก้าวขึ้นเป็นรัฐชั้นนำของอินเดีย โดยมีจีดีพีเติบโตสูงเป็น 2.5 เท่าของจีดีพีทั้งประเทศ โดยใช้นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาชุมชนเมือง และขจัดกฎระเบียบที่ยุ่งเหยิงนั้น มาปรับใช้กับการบริหารประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้อินเดียมีการเติบโตมากขึ้น
ปัจจุบัน อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับ 16 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ โดยการค้าไทย-อินเดีย ปี 56 มีมูลค่า 8,685 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุลการค้า 1,679 ล้านเหรียญฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ ยางพารา และเครื่องคอมพิวเตอร์