"สภาฯ ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกไทยในปี 57 เหลือเพียงขยายตัว 1.17% จากเดิมคาดขยายตัว 3% เพราะคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี หรือตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.จะมีมูลค่าส่งออกอยุ่ที่ 118,500 ล้านเหรียญสหรัฐ" นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท.กล่าว
โดยในเดือน ก.ค.-ก.ย.คาดจะส่งออกได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญฯ ส่วนเดือน ต.ค.-ธ.ค.คาดจะส่งออกได้เดือนละ 19,500 ล้านเหรียญฯ เมื่อรวมกับยอดส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกที่มีมูลค่า 112,704 ล้านเหรียญฯ เท่ากับมูลค่า 231,204 ล้านเหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดจะขยายตัว 3.5% หรือมีมูลค่าในเดือน ก.ค.-ธ.ค.ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,600 ล้านเหรียญฯ
ทั้งนี้เนื่องจากตลาดโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง เช่น เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน, การที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้าไทย(จีเอสพี) อีก 723 รายการในปีหน้า ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ที่คำสั่งซื้อจากยุโรปจะลดลง, ความผันผวนของค่าเงินบาท, การปรับลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยลงมาอยู่ในระดับต่ำสุด หรือในระดับ 3(Tier 3) ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
"เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ขยายตัว 3.5% ทำได้ยาก เพราะต้องมีการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,600 ล้านเหรียญฯ ขณะที่สภาฯ มองว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 1-1.6% แต่ความน่าจะเป็นมากที่สุดอยู่ที่ 1.17%" นายวัลลภ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจีเอสพี แม้ในช่วงนี้ยอดส่งออกไปยุโรปจะขยายตัวสูง โดยลูกค้าเร่งซื้อสินค้าเก็บไว้ในสต็อก เพราะได้ราคาถูกถ้าเทียบกับปีหน้าที่จีเอสพีจะถูกตัดสิทธิ์ ดังนั้น ในไตรมาสที่ 4 ลูกค้าต่างประเทศก็จะทยอยเจรจากับประเทศอื่นๆ ที่มีสินค้าคล้ายกับไทย เพื่อหันไปนำเข้าจากเพื่อนบ้านแทน เพราะประเทศเหล่านั้นยังไม่ถูกตัดจีเอสพี
ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธาน สรท. กล่าวว่า การตัดสิทธิ์จีเอสพีสินค้าไทยของยุโรปในปีหน้าเพิ่มอีก 723 รายการ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนการผลิตลง 3-5% ภายใน 3-4 ปีข้างข้างหน้า เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดยุโรป หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะเสี่ยงต่อการเสียตลาดยุโรปในกรณีที่ไม่สามารถลดราคาสินค้า เพื่อให้ราคาสินค้าที่ขายให้ผู้บริโภคอยู่ในระดับเดิม หลังจากถูกตัดสิทธิ์ เพราะสินค้าไทยจะต้องกลับมาเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ หรือเพิ่มขึ้นจากภาษีภายใต้จีเอสพี
"การส่งออกไทยในปี 57 ที่คาดจะอยู่ที่ 1-1.6% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่มากจากปีก่อน แต่หากคิดเป็นเงินบาทจะมีมูลค่าสูงถึง 7.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อน ก็ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีรายได้เพิ่มอีก 300,000 กว่าล้านบาท เป็นผลจากการอ่อนค่าของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้ต้องขอชมเชยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่สามารถดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งค่ามากเกินไป" นายนพพร กล่าว