ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคบริการเดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สต็อกสินค้าภาคค้าส่ง เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตาข้อมูล PMI ภาคบริการเดือนก.ค.ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สำหรับภาวะตลาดเงินรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(28ก.ค.-2 ส.ค.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยเงินบาทปรับตัวในกรอบแคบช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะในส่วนของตลาดพันธบัตร
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากข้อมูลจีดีพี และต้นทุนแรงงานของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/57 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ซึ่งกระตุ้นกระแสการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ที่เข้ามาจากหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ก็กดดันให้เงินบาทกลับมายืนที่ระดับอ่อนค่ากว่า 32.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์
ในวันศุกร์(1 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ หลังอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 32.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า(25 ก.ค.)