ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เตรียมพิจารณาข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากการนำรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลไปออกอากาศทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกในระดับความคมชัดสูง(HD) รวมทั้งเตรียมพิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ตามที่ช่อง 5 ได้เคยเสนอมายัง กสท.เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีแผนปรับเปลี่ยนและให้แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ที่มีผู้แทนจากช่อง 5 จำนวน 2 คน ผู้แทนจาก กสท.จำนวน 2 คน และนักวิชาการสื่อสารมวลชนจำนวน 1 คน
"ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในเรื่องสัดส่วนของกรรมการตามที่มีมติก่อนหน้านี้ เพราะอาจไม่หลากหลายพอที่จะช่วยพิจารณาให้ผังรายการช่อง 5 เปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงได้ตามเจตนารมรณ์ของกฎหมาย ทางที่ดีควรมีภาคประชาสังคม ผู้บริโภค และนักวิชาการเพิ่มเติมมาช่วยประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงแล้วหรือไม่อย่างไร เพราะทั้งเรื่องของโฆษณา และผังรายการเนื้อหาจะแตกต่างจากการทำทีวีธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมมากกว่านี้" น.ส.สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้จะมีการรายงานจำนวนสถานีวิทยุกระจายเสียงที่สามารถออกอากาศได้ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 79/57 มีจำนวนทั้งสิ้น 605 สถานี(ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค.57) แบ่งเป็นประเภททางธุรกิจ 540 สถานี สาธารณะ 44 สถานี และชุมชน 21 สถานี รวมทั้งจะพิจารณากำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตว่าด้วยวิทยุคมนาคม โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้เครื่องส่งที่ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคแล้วมาดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่สำนักงาน กสทช.ประกาศรายชื่อให้ออกอากาศได้ตามปกติ มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทดลองและต้องยุติการออกอากาศทันที, กรณีที่บริษัท ทรูวิชั่นส์ ทำเรื่องมายัง กสท.เพื่อขออนุญาตพักการให้บริการเป็นการชั่วคราวในวันที่ 6 ส.ค.57 ตั้งแต่เวลา 00.01-10.00 น.เพื่อปรับปรุงคุณภาพช่องรายการ Digital TV
และวาระแจ้งเพื่อทราบว่า กรณีช่อง 3 ยอมเสียค่าปรับ 5 แสนบาท รายการไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์ (TGT) ตอนสิทธัตถะ เอเมอรัลแล้ว หลังมีการอุทธรณ์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนวาระเรื่องร้องเรียนมายัง กสท.ทั้งรายการตอบโจทย์ประเทศไทย และละครชุด "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีความเห็นในขั้นอนุกรรมการ และที่ประชุม กสท.ยังมีความเห็นแตกต่างกันจะได้พิจารณากันด้วย