สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ในด้านปัจจัยในประเทศ ประกอบด้วย ราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด จากการสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว อันส่งผลต่อระดับราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น, การเปิดประมูลข้าวตามแผนในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ นับเป็นจังหวะการระบายข้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ข้าวนาปียังไม่ออก ทั้งนี้ คาดว่า ภาคเอกชนจะให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลข้าวกว่า 0.2-0.5 ล้านตัน, การระบายสต๊อกข้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการปรับวิธีการระบายข้าวเป็นแบบภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น (G+P) เพื่อรองรับผลผลิตข้าวนาปี 2557/58 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคมนี้ โดยเจาะใน 4 ตลาดหลัก คือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เน้นเอกชนเป็นตัวนำในการเจรจาหรือร่วมประมูลขายข้าว และภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนเข้าไปทำตลาด จีนและมาเลเซีย เน้นภาครัฐเป็นตัวนำในการเจรจาขายข้าวในลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และเอกชนเป็นผู้สนับสนุนแก่ภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่า ไทยจะเจรจาขายข้าวให้จีนราว 1 ล้านตัน และมาเลเซียราว 0.7 ล้านตัน
ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ประกอบด้วยด้านอุปสงค์ แนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวมีมากขึ้นจากคู่ค้าสำคัญในตลาดเอเชีย ที่คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในเร็วๆ นี้ อย่างฟิลิปปินส์ (0.5 ล้านตัน) มาเลเซีย (0.2 ล้านตัน) และอินโดนีเซีย (0.2-0.5 ล้านตัน), จีนมีความต้องการข้าวเพื่อเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาพื้นที่ปลูกและผลผลิตข้าวในประเทศลดลง อีกทั้งความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนินโญ่ จึงเร่งนำเข้าข้าวเก็บสต๊อกมากขึ้น, อิรักเตรียมเปิดประมูลในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะสต๊อกข้าวภายในประเทศลดลง (หลังจากเปิดประมูลไปแล้วสองครั้งตั้งแต่ต้นปี 2557) คาดอาจเปิดประมูลราว 0.06-0.12 ล้านตัน และไนจีเรียอาจเพิ่มคำสั่งซื้อข้าวนึ่ง หลังจากไนจีเรียได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือ 190 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากเดิมที่ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขระที่ด้านอุปทาน คู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย คาดอาจประสบภาวะภัยแล้ง จากปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง ตลอดจนการลดลงของปริมาณสต๊อกข้าวในประเทศ โดยสต๊อกข้าว ณ มิถุนายน 2557 อยู่ที่ 28.0 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 15.9 (YoY) ซึ่งอาจกดดันการส่งออกข้าวของอินเดีย, เวียดนามประสบปัญหาอุปทานข้าวในประเทศตึงตัว ส่งผลต่อราคาที่ปรับสูงขึ้น และนับว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังมีประเด็นกรณีพิพาทกับจีน (เรื่องหมู่เกาะพาราเซล ในทะเลจีนตะวันออก) อาจส่งผลให้จีนหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นมากขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงในการสูญเสียตลาดหลักในปีนี้ นับเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวของไทย (จีนเป็นตลาดส่งออกข้าวหลักของเวียดนาม โดยในปี 2555 เวียดนามส่งออกข้าวไปจีนคิดเป็นสัดส่วนมูลค่ากว่าร้อยละ 24.5 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม) และปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ที่คาดว่าอาจเกิดราวกลางปี 2557 ครอบคลุมหลายพื้นที่ในโลก อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว และการค้าข้าวโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากปัจจัยหนุนสำคัญที่เกิดขึ้นในระยะสั้นต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหลัง คือ ปริมาณสต๊อกข้าวของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับคู่แข่งหลักอย่างอินเดียและเวียดนามประสบภาวะการส่งออกชะลอลง ก็อาจทำให้การส่งออกข้าวไทยในปีนี้กระเตื้องขึ้น จนสามารถเบียดแซงคู่แข่งหลักขึ้นมาได้
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยได้พลิกมามีสัญญาณเชิงบวก จากปัจจัยด้านราคาส่งออกข้าวไทยที่ปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมีอัตราการขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า เห็นได้จาก ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 62.1 (YoY) และมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 76,351 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 23.2 (YoY) โดยตลาดส่งออกหลักคือ เบนิน สหรัฐอเมริกา จีน แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เป็นต้น
ด้วยปัจจัยหนุนสำคัญที่เกิดขึ้นในระยะสั้นที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะปริมาณสต๊อกข้าวไทยในระดับสูง และภาวะที่คู่แข่งประสบภาวะการส่งออกชะลอลง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การส่งออกข้าวของไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องต่อจากครึ่งปีแรกที่ส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 0.78 ล้านตัน และหากยังสามารถรักษาระดับการส่งออกนี้ต่อเนื่องไปอีก 6 เดือนในช่วงครึ่งปีหลัง ก็น่าจะส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นอีกราว 4.7 ล้านตัน ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2557 คาดว่า ไทยอาจมีโอกาสส่งออกข้าวมากกว่า 9 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 36.1 (YoY) และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 12.1 (YoY) และท้ายที่สุด คาดว่า อาจทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ด้วยปริมาณส่งออกกว่า 9 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ 10 ล้านตัน และเวียดนามเป็นอันดับ 3 ที่ 6.5 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม หากในปี 2557 นี้ อินเดียประสบภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจทำให้ไทยมีโอกาสทวงคืนแชมป์จากอินเดีย และอาจก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้ ตามมาด้วยอินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ
"หากไทยสามารถรักษาระดับการส่งออกด้วยการระบายสต๊อกข้าวอย่างต่อเนื่องในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ไทยมีลุ้นกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้ในระยะอันใกล้ ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปี 2558 ไทยจะกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้อีกครั้งด้วยปริมาณการส่งออกกว่า 10 ล้านตัน ตามมาด้วยอินเดียที่ 9 ล้านตัน และเวียดนามเป็นอันดับ 3 ที่ 6.7 ล้านตัน" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จะมีสัญญาณเชิงบวกในระยะสั้นสนับสนุนให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2557 กระเตื้องขึ้น แต่ประเด็นท้าทายด้านราคายังคงต้องจับตา เพราะแม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก แต่ราคาส่งออกยังคงต้องอิงกับตลาดโลก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาราคาส่งออกข้าวของไทยจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ส่วนต่างราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่หากพิจารณาทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาจะเห็นว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากปริมาณสต๊อกข้าวของไทยที่อยู่ในระดับสูง จนทำให้ปัจจุบันส่วนต่างราคาข้าวไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งแคบลงเหลือราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในเวทีโลกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็กดดันต่อมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยด้วย
สำหรับแนวโน้มราคาส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่า ราคาส่งออกเฉลี่ยอาจทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด เพราะแม้จะสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวและการระบายสต๊อกข้าวของไทยที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดันราคาอยู่ก็ตาม แต่ผลจากความต้องการในตลาดโลกที่ยังมีรองรับ และไทยอาจได้รับอานิสงส์จากประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่อาจประสบภาวะการส่งออกที่ชะลอลง จึงมีโอกาสหนุนระดับราคาให้เพิ่มขึ้นได้บ้างในบางจังหวะ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามค่าเงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อระดับราคาอีกด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุต่อว่า แม้ตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ และอาจต่อเนื่องถึงปีใกล้เคียงถัดจากนี้ จะให้ภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากปริมาณสต๊อกข้าวของไทยในระดับสูงที่ทยอยระบายออกสู่ตลาดในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ก็เป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น แต่หากมองในระยะยาว เมื่อปัจจัยหนุนดังกล่าวสิ้นสุดลงและเข้าสู่กลไกตลาดอย่างแท้จริง ไทยอาจต้องหันกลับมาสร้างความแข็งแรงให้กับข้าวไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับศักยภาพการผลิตในระดับต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การครองความเป็นผู้นำส่งออกข้าวโลกของไทย สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนาไทยไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน