ทั้งนี้ ในเรื่องการส่งออกผลไม้มาจำหน่ายยังประเทศไทยจะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าและมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้มีการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Agreement between the Kingdom of Thailand and Japan for an Economic Partnership : JTEPA) โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการและอนุกรรมการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ดังนั้น การส่งออกผลไม้ของจังหวัดยามานาชิจะต้องดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการและคณะอนุกรรมการพิเศษภายใต้กรอบความตกลง JTEPA ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเกษตร ประกอบด้วยความปลอดภัยด้านอาหาร (SPS) และความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยและทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง
อย่างไรก็ตามภายใต้คณะอนุกรรมการและอนุกรรมการพิเศษต่าง ๆ มีคณะอนุกรรมการและอนุกรรมการพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการกำกับดูแลเรื่องความร่วมมือด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง 2.คณะอนุกรรมการพิเศษกำกับดูแลเรื่องความร่วมมือในด้านความปลอดภัยอาหาร และ 3.คณะอนุกรรมการพิเศษกำกับดูแลเรื่องความร่วมมือในด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออก 14,792.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 19.2 ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นอันดับที่ 11 สัดส่วนร้อยละ 2.83 สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ ยางพารา ผลไม้ เนื้อไก่สดและแปรรูป ข้าว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง และกล้วยไม้ เป็นต้น