นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค. ซึ่งได้ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
ในด้านการใช้จ่ายนั้น การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก แต่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แม้ว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วงปลายไตรมาส แต่นักลงทุนยังรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล
ในด้านภาคต่างประเทศนั้น การส่งออกสินค้าช่วงไตรมาส 2 ขยายตัว 0.4% ที่มูลค่า 55,765 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของความต้องการในตลาดสหรัฐ และสหภาพยุโรปเป็นปัจจัยสนับสนุน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าช่วงไตรมาส 2 ลดลง 14.8% ที่มูลค่า 49,835 ล้านดอลลาร์ โดยการนำเข้าที่ลดลงนี้มาจากความต้องการในประเทศยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมทั้งการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นหลายแห่ง ซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง
ในด้านการผลิตสินค้าและบริการนั้น ภาคการผลิตส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสาขาเกษตรกรรม ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม การก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวต่อเนื่อง
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า โดยรวมแล้วเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.0% อัตราเงินเฟ้อที่ 2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13,440 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ของ GDP