ป.ป.ช.มีมติปัดตกข้อกล่าวหา กทค.ฮั้วประมูล 3G ไม่พบพฤติการณ์ทุจริต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 19, 2014 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช.เปิดเผยวา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.วันนี้มีมติต่อกรณีข้อกล่าวหาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)มีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลและให้ข้อกล่าวหาตกไป

ทั้งนี้ กทค.ทั้ง 4 รายคือ พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. และกรรมการอีก 3 คน คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการโทรคมนาคม ถูกกล่าวหาว่าออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 3 จี เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ราย ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริงในการประมูล

นอกจากนั้น ยังมีข้อกล่าวหาว่า บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด มีผู้จัดการเป็นคนต่างด้าว ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูล (3 จี) , กทค.ไม่มีอำนาจจัดการประมูลคลื่น 3 จี, ผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย มีการสมยอมกันในการประมูล และ กทค.ละเว้นไม่ดำเนินการยกเลิกการประมูลทั้งที่ทราบว่าการประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริง

นายสรรเสริญ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาที่ 1 จากการไต่สวนพบว่าขณะออกประกาศหลักเกณฑ์ มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าประมูลได้จำนวน 20 ราย จึงมิได้เป็นการเอื้อให้กับผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่เข้าประมูล ส่วนข้อกล่าวหาที่ 2 จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด จึงไม่ขาดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต

ข้อกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนพบว่าการจัดประมูลคลื่น 3 จี ของ กทค. เป็นการดำเนินการแทน กสทช. ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้, ข้อกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนพบว่าการเสนอราคาของผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย เป็นไปโดยถูกต้องตามประกาศหลักเกณฑ์ฯ ไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานว่ามีการสมยอมกันในการเสนอราคา

ขณะที่ข้อกล่าวหาที่ 5 จากการไต่สวนพบว่า การประมูลครั้งนี้ ตามประกาศฯ ได้แบ่งคลื่นออกเป็น 9 ชุด มีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด (AIS) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (DTAC) และบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด (TRUE)เป็นดำเนินการประมูลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่ กสทช. ประกาศกำหนด มิได้นำหลักการประมูลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) มาใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

นอกจากนั้น การประมูลก็มีการแข่งขันเสนอราคากันถึง 7 รอบ ผลการประมูลได้ราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับประเทศไทย และได้รับการยอมรับจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติด้านโทรคมนาคม การประมูลครั้งนี้เป็นการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยแบบก้าวกระโดด ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก


แท็ก คมนาคม   ป.ป.ช.   3 จี   3G  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ