"โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 นี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ใช้เวลาก่อสร้าง 48 เดือน ซึ่งจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนม.ค.61" ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว
พร้อมระบุว่า หัวหน้า คสช.ได้กำชับให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว รวมทั้งขอให้พัฒนาศักยภาพโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำหรือพลังงานประเภทอื่น
อนึ่ง โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 มีอายุการใช้งานมากว่า 25 ปีแล้ว และจะปลดออกจากระบบในวันที่ 31 ธ.ค.60
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า คสช.ยังเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 วงเงินลงทุน 60,000 ล้านบาท และอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนประจำปี 57 อีก 7.1 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการพัฒนาและก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเป็นการรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการก่อสร้างสายส่งระยะทาง 2,791 วงจรกม. และสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่รวม 7 แห่ง วงเงินลงทุน 60,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 14,500 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ในประเทศและก่อสร้าง 45,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างรวม 7 ปี 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.56-มี.ค.63
นอกจากนี้ คสช.ยังเห็นชอบการปรับปรุงระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยอนุมัติให้กฟผ.ดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยการอนุมัติงบลงทุน 63,200 ล้านบาท อนมัติการงบเบิกจ่ายงบลงทุน ประจำปีงบประมาณ 57 วงเงิน 3.2 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน คสช.ยังเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) กู้เงินในประเทศสำหรับการลงทุนในโครงการ 17 โครงการ ปีงบประมาณปี 2557 วงเงิน 8,839 ล้านบาท และเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) กู้เงินในประเทศเพื่อลงทุนในปี 57 วงเงิน 3,000 ล้านบาท