บอร์ด BOI เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ใหม่, ไฟเขียวมาตรการช่วย SMEs-ส่งเสริมลงทุนชายแดนใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 19, 2014 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกรรมการ และพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นรองประธานกรรมการว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของ “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (พ.ศ. 2558 – 2564) ตามที่บีโอไอนำเสนอ

สำหรับนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะมีการปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมที่ครอบคลุมเกือบทุกกิจการ (Broad-based) เป็นการส่งเสริมที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น (Focus & Prioritized) และมีการทบทวนบัญชีประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายอุดม กล่าวว่า ยังคงกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนออกเป็น 7 กลุ่มเช่นเดิม แต่จะเน้นประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการวิจัยและพัฒนาหรือการออกแบบ รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 2) อุตสาหกรรม แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 3) อุตสาหกรรมเบา 4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 5) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 6) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ และ 7) อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค

สำหรับรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมจะมี 2 ประเภท คือ สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity-based Incentives) คือ การให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามประเภทของกิจการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ที่จะให้เพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากขึ้น ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทักษะขั้นสูง การพัฒนาผู้รับช่วงการผลิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะยกเลิกระบบการส่งเสริมที่อิงกับเขตพื้นที่ (เขต 1-3 เดิม) ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ (Zones) เป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters) เพื่อสร้างการรวมกลุ่มใหม่ของการลงทุนที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของ Value Chain ซึ่งคณะกรรมการฯ จะกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นรายกรณี

นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บทบาทของบีโอไอจะต้องให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (Inbound Investment) และการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Outbound Investment) ซึ่งเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่จำเป็นเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากรในประเทศ แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะโอกาสจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเป็นการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ลำดับ 1 อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ลำดับ 2 จีน อินเดีย และอาเซียนอื่นๆ ลำดับ 3 ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้สามารถก้าวสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยกระตุ้นให้กิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน 2. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้พลังงานทดแทน 3. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4.ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 5. ลงทุนเพิ่มด้านการวิจัย พัฒนา และการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

นายอุดม กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสตูล รวมทั้งพื้นที่ในอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ