โดยดัชนีที่เพิ่มขึ้นมาจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าระดับความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มีปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าดัชนี ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการเริ่มเห็นทิศทางและนโยบายที่ชัดเจนทางการเมือง ประกอบกับการดำเนินกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในบางอุตสาหกรรมมียอดขายลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความตื่นตัวในเรื่องการค้าชายแดน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับผู้ประกอบการส่งออกได้แสดงความกังวล ต่อการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดทิศทางและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า ปัจจัยการผลิต แรงงาน เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าชายแดน พร้อมสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs