CIMBT เชื่อศก.ฟื้นดีหลังได้รัฐบาลใหม่ แต่ยังเสี่ยงปัญหาหนี้ครัวเรือน-ส่งออก-แรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 21, 2014 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่า สำนักวิจัยมองว่าหลังมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และมีการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดี หลังจากที่หดตัว 0.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี จากการที่รัฐบาลใหม่จะสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและผู้บริโภคได้ดีขึ้น

วันนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ แต่ก็อาจไม่สามารถเร่งตัวได้แรงเช่นในอดีต เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้ สำนักวิจัยมองว่ามีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็น คือ

1. ครัวเรือนไทยมีหนี้สูงขึ้นมาก โดยสัดส่วนหนี้ต่อ GDP พุ่งขึ้นเร็วจากราว 63% ปลายปี 2553 เป็น 82.3% ในปลายปี 2556 โดยหนี้ที่เร่งตัวสูงขึ้นส่งผลให้ภาคครัวเรือนเผชิญปัญหารายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงขึ้น จึงเหลือเงินน้อยลงเพื่อการบริโภคสินค้าอื่นๆ ซึ่งมีผลให้การบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนราว 50% ของ GDP ไม่อาจเติบโตได้ดีนักในอนาคต อีกทั้งหากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจะยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของภาคเอกชนอีกด้วย หนทางลดความเสี่ยงคือการสร้างค่านิยมการออมให้กับสังคม และสร้างทัศนคติการบริโภคอย่างพอเพียงตามความสามารถในการจ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ไม่ควรนำนโยบายประชานิยมมากระตุ้นการบริโภคที่เกินพอดีให้แก่ประชาชน

2. ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาดโลกได้ เช่น ไทยยังพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ที่ความต้องการตลาดโลกหดตัว ทั้งนี้ หากนักลงทุนไทยได้รับการถ่ายโอนด้านเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างประเทศได้ หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง ก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยก้าวผ่านปัญหานี้ไปได้ แต่ก็มีคำถามคือเราจะสามารถดึงดูด FDI ได้มากน้อยเพียงไร จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป นอกจากนี้ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ผู้ผลิตไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) ให้มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดส่งออกในบางประเทศชะลอตัว เพราะหากส่งออกชิ้นส่วนเพื่อไปใช้ประกอบหรือเชื่อมโยงกับการส่งออกของประเทศปลายทางแล้ว จะช่วยให้การส่งออกไทยเติบโตไปกับตลาดโลกได้ดีขึ้น

3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยสัดส่วนคนในวัยแรงงานมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหากมีแรงงานลดลง เศรษฐกิจก็ไม่อาจเติบโตได้ดี ทั้งนี้ วิธีแก้ปัญหาคือการพยายามให้แรงงานที่มีอยู่สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากขึ้น หรือการสร้างประสิทธิภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ซึ่งจะมาพร้อมเทคโนโลยี การศึกษา และการลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ

นายอมรเทพ กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยง 3 ประการข้างต้น แต่ยังมีทางออกอยู่บ้าง นั่นคือการลงทุนภาครัฐเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เอกชนไทย ซึ่งโครงการ 2.4 ล้านล้านบาทที่มีการหยิบยกมาพูดกันนั้น น่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ หรือไม่เข้าสู่การชะลอตัวมากนักในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนภาครัฐเพียงราว 20% ของงบประมาณภาครัฐ ซึ่งอาจไม่พอที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้การลงทุนภาครัฐเป็นสัดส่วนไม่มากนักต่อเศรษฐกิจ แต่ที่มีความสำคัญเนื่องจาก หากภาครัฐลงทุนนำร่อง เอกชนจะลงทุนตาม เนื่องจากต้นทุนการลงทุนลดลง ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนนั้นมีสัดส่วนใหญ่กว่าภาครัฐมาก และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี

“สิ่งที่อยากฝากให้แก่รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีการจัดตั้งคือ ขอให้พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า โครงการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้นนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว แม้สิ้นสุดยุคคสช. ไปแล้ว รัฐบาลใหม่ก็จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปได้ ไม่มีการสะดุดหรือเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากหากภาคเอกชนไม่มั่นใจว่า โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ หรือปีหน้า จะสามารถมีความต่อเนื่องระยะยาวได้ เขาอาจไม่ลงทุนเต็มที่ และโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วก็อาจไม่บรรลุผลได้" นายอมรเทพ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ