1. รับทราบข้อเสนอด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1)ข้อเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า ประกอบด้วย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และอ้อย (Roadmap) ภายใต้คณะกรรมการกรอ.รับไปพิจารณาในรายละเอียดการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจทางเลือก และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวเป็นอ้อยโรงงาน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการ/อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยพบว่าปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 70 ล้านไร่ และไม่เหมาะต่อการปลูกข้าว 27 ล้านไร่ ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าหากจะนำมาปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยก็จะปลูกได้ 6.7 ล้านไร่
พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดำเนินการเพิ่มผลิตภาพผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ขยายกำลังการผลิตของโรงงาน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดคู่สัญญาระหว่างเกษตรกรและโรงงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณารายละเอียดการกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า และนโยบายการส่งเสริมการใช้เอทานอล
2)การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน โดยการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อยกระดับด่านชายแดนจากจุดผ่อนปรนให้เป็นด่านถาวร โดยมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาความสำคัญและความจำเป็นของการจัดตั้งด่านประเภทต่างๆ ในภาพรวมทั้งประเทศ โดยคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
โดยจุดผ่อนปรนที่ต้องการให้ปรับเป็นด่านถาวร เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี, ด่านห้วยต้นนุ่น แม่ฮ่องสอน, ด่านบ้านหลักแต่ง เชียงใหม่, ด่านบ้านม่วง ตราด, ด่านช่องสายตะกู บุรีรัมย์, และด่านช่องเม็ก อุบลราชธานี ให้ยกระดับเป็นด่านถาวร
ส่วนการอนุญาตให้ใช้ Visa on Arrival กับเมียนมาร์และการเพิ่มจุดผ่านแดนถาวรที่จะใช้ Visa on Arrival นั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกันพิจารณาเพิ่มช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ผู้ร้องสามารถขอรับการตรวจลงตราโดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
โดยเหตุที่เพิ่มให้แก่เมียนมาร์เพราะที่ผ่านมาได้มีการในวีซ่าในส่วนนี้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชาแล้ว ดังนั้นหากเพิ่มเมียนมาร์เข้ามาอีกก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการที่จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงได้
ส่วนการเปิดเจรจาทวีภาคีระหว่างไทยและกัมพูชาเพื่อเพิ่มโควต้าในการเดินรถตามกรอบ GMS จาก 40 คันเป็น 500 คันนั้น ได้มอบหมายกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประสานงานผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) ในการจัดประชุมทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อร่วมกันหารือในรายละเอียดการเพิ่มการเดินรถระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาตามกรอบความร่วมมือ
3)การปรับปรุงระบบอำนวยการความสะดวกด้านการนำเข้า-ส่งออกของกรมศุลกากร โดยให้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเรื่องค่าปรับ พิกัด และสินบนรางวัลนำจับ โดยมอบหมายกรมศุลกากร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารราปรับปรุงกฎหมายศุลกากรในประเด็นบทลงโทษทางศุลกากรให้เหมาะสมกับเจตนาในการกระทำความผิด และการให้เงินสินบนและรางวัลนำจับ
ขณะที่การพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ของหน่วยงานต่างๆ ผ่านระบบ National Single Window(NSW) ให้ครบถ่วนในปี 2558 โดยมอบหมายกรมศุลกากร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณาดำเนินการพัฒนาระบบ NSW ให้แล้วเสร็จภายในปี 58 โดยพิจารณาขอบเขต/ประเภทของข้อมูลที่จะนำมาเชื่อมโยง รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของคสช.พิจารณาเร่งรัดการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
2. รับทราบข้อเสนอด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมมีมติดังนี้ 1)เรื่องการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางเพื่อการทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตามมาตรฐาน UN-ECE โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางฯ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นรูปแบบของการลงทุน กลไกการบริหารจัดการ และพื้นที่ดำเนินการ
โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบบางส่วนทำให้ต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นหากตั้งศูนย์นี้ด้วยวงเงิน 400 ล้านบาท ก็จะช่วยสนับสนุนในเรื่องของอุตสาหกรรมยางพารา และทำให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น
2) การติดตามความคืบหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม รวมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานไปหารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านมาตรการด้านการคลัง รวมทั้งมาตรการอื่นๆ และกำหนดรูปแบบและกลไกการขับเคลื่อนทั้งระบบ โดยให้นำผลการดำเนินการมารายงานต่อคณะกรรมการ กรอ.ในครั้งต่อไป