โดยแรงขับเคลื่อนสินเชื่อหลักคงมาจากลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่น่าจะมีความต้องการเบิกใช้สินเชื่อมากขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้นของอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่ความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยคาดหมายว่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นำโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นหลัก
ส่วนด้านเงินฝากนั้น คาดว่า น่าจะยังเห็นธนาคารพาณิชย์ออกแคมเปญเงินฝากทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนจูงใจเพื่อรักษาฐานลูกค้าและกักตุนสภาพคล่องไว้กับธนาคาร จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วน่าจะช่วยหนุนให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาส 3 นี้ อาจมีระดับค่อนข้างทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาส 2/2557
อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์คงติดตามสถานการณ์ด้านสภาพคล่องในระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะมีผลต่อการวางกลยุทธ์ระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความต้องการใช้สภาพคล่องของผู้เล่นอื่นในตลาดการเงิน ทั้งภาครัฐ (ผ่านการออกพันธบัตรและการใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) และภาคเอกชน (ผ่านการออกตราสารทางเลือกอื่นๆ) เพื่อรองรับกิจกรรมการลงทุนในอนาคต ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศแกนหลัก ตลอดจนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยที่สำคัญ เพราะมีผลเชื่อมโยงมาถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะถัดไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเปิดเผยถึงข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า
ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 มีจำนวน 9.59 ล้านล้านบาท ลดลง 2.57 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.62 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อันกดดันให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 6.38 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.75 ในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2557
ทั้งนี้ ยอดเงินให้สินเชื่อที่หดตัวลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คาดว่าได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านฤดูกาลชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ผนวกกับการระมัดระวังการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนในจังหวะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนั้น คาดว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการชำระหนี้คืนของลูกค้ารายย่อยหลังการส่งมอบรถตามโครงการรถยนต์คันแรกทยอยเสร็จสิ้นลง
ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 10.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.54 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการทยอยออกแคมเปญเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) อยู่ที่ระดับ 8.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.00 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า จากการออกหุ้นกู้ในบางธนาคาร ทำให้เมื่อรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมแล้ว พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 11.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.94 หมื่นล้านบาท จากระดับ 11.03 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า หรือเติบโตร้อยละ 5.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 5.27 ณ สิ้นเดือนก่อนหน้า
ส่วนสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนกรกฎาคม 2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากการหดตัวลงของเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ เงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินให้กู้ยืมยังคงเพิ่มขึ้น ดังสะท้อนให้เห็นผ่าน
อัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (Gross Loans to Deposits and Borrowings) ลดลงมาที่ระดับร้อยละ 89.98 เทียบกับร้อยละ 90.70 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557
ขณะที่สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้างเพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 มีจำนวน 2.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.19 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่ เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ (รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) และเงินสดปรับลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับ 2.66 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 7.19 หมื่นล้านบาท จากระดับ 2.58 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557