ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยประสานศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินภาคประชาชนทั้งหนี้สินในระบบและหนี้สินนอกระบบของประชาชนในพื้นที่และดำเนินการประสานกับกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่กระทรวงการคลังวางไว้
ปัจจุบัน กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งในเบื้องต้นมีองค์กรการเงินชุมชนจำนวน 47 แห่งประสงค์เข้าร่วมโครงการ และมีธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนในด้านการประสานงาน วิชาการ และเงินทุน
ในระยะต่อไป กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะคัดเลือกองค์กรการเงินชุมชนจำนวนหนึ่งจากองค์กรการเงินชุมชนข้างต้นสำหรับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าว
นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จัดตั้งจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศเพื่อให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภารกิจหนึ่งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
สำหรับการสร้างกลไกในการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ และการสร้างกลไกในการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีศักยภาพในการหารายได้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการในรูปแบบคณะอนุกรรมการภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังหรือรองปลัดกระทรวงการคลังที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะมีสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้นอกระบบและลูกหนี้ รวมถึงการพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ
ส่วนการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. มีกลไกในการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ เช่น ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. และโครงการพัฒนาอาชีพของธนาคารออมสิน นอกจากนี้ จะมีคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีผู้แทนกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามผลการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของลูกหนี้และดำเนินงานในด้านการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ไม่สามารถผลักดันให้ตนเองหลุดพ้นจากปัญหาหนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวเป็นการดำเนินการในขั้นแรก หากผลการดำเนินการมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่ดี กระทรวงการคลังจะเดินหน้าผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าว เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบในชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนจะช่วยให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบสามารถเลือกช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ การจัดให้มีกลไกในการเจรจาประนอมหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรมจะลดภาระด้านดอกเบี้ยเงินกู้ของลูกหนี้นอกระบบ รวมทั้งการสร้างกลไกในการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพในการหารายได้จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก อีกทั้งการดึงองค์กรการเงินชุมชนซึ่งมีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับสมาชิกเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้ฝากเพิ่มเติมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่ของการปฏิบัติ ซึ่งในหลักการนั้นหน่วยงานต่างๆ มีความครอบคลุมดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความชัดเจนว่าผู้ที่มีปัญหาหนี้สินจะสามารถไปขอความช่วยเหลือที่ใดได้บ้าง
"ท่านขอให้เชื่อมโยงไปยังศูนย์ดำรงธรรม ขอให้กระทรวงคลังพิจารณาว่าจะสามารถให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการหนี้ให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในเรื่องการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยให้ธปท.พิจารณาเรื่องการใช้จ่ายบัตรเครดิตของประชาชนให้มีความเหมาะสม และให้ฝ่ายความมั่นคงรวบรวม เพื่อส่งหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ศูนย์ดำรงธรรม และอปท.ต้องร่วมเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวด้วย" ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว