ทั้งนี้ ระบบรางของไทยมุ่งเน้นขนส่งทั้งคนและสินค้า ซึ่งแผนระยะเร่งด่วนในการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐานแนวทางใหม่ ประกอบด้วย เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท ดำเนินงานปี 58-64 ซึ่งทั้ง2 เส้นทางสามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านและจากจีนตอนใต้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีนมายังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในอนาคตประเทศไทยจะมีการพัฒนารถไฟทางคู่ไปยังปาดังเบซาร์ และจะเชื่อมโยงกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า การปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงความเร็ว 250 กม.ต่อ ชม.มาเป็นการพัฒนารถไฟทางคู่รางมาตรฐานความเร็ว 180 กม.ต่อ ชม.จะประหยัดงบประมาณลงส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะค่าตัวรถที่ต่างกัน และจะทบทวนในเรื่องเทคนิค ตัวราง ซึ่งเบื้องต้นไม่มีปัญหา โดย สนข.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 ช่วง พิษณุโลก-เชียงใหม่ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวมาประกอบการจัดทำโครงการรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน ใน 2 เส้นทางทางใหม่ ซึ่งภายใน 2 เดือนนี้ สนข.จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาในด้านความคุ้มค่าการลงทุนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุน วงเงินรวม 350 ล้านบาทใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
รูปแบบการลงทุนนั้นต้องนำประเด็นที่จะมีการตั้งกรมการขนส่งทางรางมาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งตามแผนกรมการขนส่งทางรางจะเป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยอาจจะใช้ได้ทั้งงบประมาณ เงินกู้ หรือเงินจากกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเดินรถจะเป็นหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอกชนก็ได้ ส่วนข้อตกลงความร่วมมือกับจีนเดิมที่สนใจจะเข้ามาลงทุนรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางหนองคาย-โคราช ซึ่งจะเชื่อมกับรถไฟจากจีนผ่านมาทางเวียงจันทน์นั้นอยู่ที่ระดับนโยบาย ซึ่งล่าสุดทูตพาณิชย์จีนได้เข้าพบนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงความร่วมมือเดิมแล้ว