ส่วนการส่งออกไทยนั้นก็ไม่ดีมา 2-3 ปีแล้ว เพราะโดยปกติการส่งออกจะเติบโตในอัตรา 10-15% ต่อปี แต่ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ต่ำกว่านั้น จากหลายปัจจัย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าหลักของประเทศ
"ตอนนี้ไก่แช่แข็งที่ส่งออกไปญี่ปุ่นเริ่มกลับมาดีขึ้น และเมื่อปีก่อนประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการส่งออกกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าหลักตัวหนึ่ง ส่วนการส่งออกข้าวเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านก็น้อยลง เพราะมีปัญหาในเรื่องราคาที่แพงขึ้นมาสำหรับข้าว มันสำปะหลัง เราส่งออกได้ดีขึ้นในเดือนพ.ค.และมิ.ย. คสช.พยายามที่จะระบายข้าวออกไปให้ได้มากขึ้น"นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก จึงเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะพลิกฟื้นความได้เปรียบ
ส่วนโครงการคมนาคมขนส่ง มีข้อแตกต่างระหว่างรัฐบาลก่อนหน้ากับ คสช. คือ การแทนที่โครงการรถไฟความเร็วสูง โดยให้ความสนใจกับระบบโครงข่ายรถไฟที่มีขนาดราง 1.4 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐาน แทนขนาดราง 1 เมตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้รถไฟความเร็วสูงนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะปรับรูปแบบ ส่วนโครงการรถไฟอื่นๆ นั้นยังดำเนินการเช่นเดิม
"โครงข่ายรางรถไฟที่มี 1.4 เมตรนี่เรามีแผนที่จะให้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างเมืองหลวงของประเทศ โครงการนี้มีความพร้อมมากกว่ารถไฟความเร็วสูง และเราก็วางแผนก่อสร้างรถไฟรางคู่และรางมาตรฐานคู่เคียงกันไป"นายอาคม กล่าว
ใน ค.ศ.2020 เลขาธิการสศช. ระบุว่าอยากเห็นประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อถึงกันและกันโดยไร้พรมแดน อย่างน้อยก็เป็นการเชื่อมต่อกันโดยเส้นทางรถไฟ