"ต้องไปดูว่าเมื่อต่อสัญญาไปแล้ว จะควบคุมรายย่อยไปจำหน่ายสลากให้เข้มงวดขึ้นได้อย่างไร ที่ผ่านมายืดหยุ่นมากเกินไป ยอมรับว่าการควบคุมราคาขายที่ 80 บาทไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสินค้าการพนัน มอมเมา ต้องถามว่าหากต้องการให้ราคาถูกลงมาก และมีการบริโภคเยอะๆ อย่างนั้นหรือไม่ ดังนั้นการเสนอให้ลดราคาจึงไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหา" นายสมชัย กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อความเข้มงวดให้รายย่อยที่ได้รับโควต้าสลากเป็นผู้นำสลากไปจำหน่ายเองมากขึ้น ดังนั้นในวันที่ 28-31 ส.ค.57 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จะเปิดให้ผู้ค้าใน กทม.มาขึ้นทะเบียน ส่วนผู้ค้าในต่างจังหวัดจะเปิดให้รายย่อยที่มีสัญญาเดิมมาขึ้นทะเบียนผู้ค้าสลากอีกครั้งหนึ่ง โดยต้องนำหลักฐานมายื่นในการขึ้นทะเบียน พร้อมรูปถ่าย 1.5 นิ้ว เพื่อมาขอทำบัตรประจำตัวสำหรับผู้ค้าสลาก ในเขต กทม.จะเป็นบัตรสีส้ม และผู้ค้าต่างจังหวัดจะเป็นบัตรสีเขียว ใช้สำหรับแสดงตัวในการมารับสลากไปจำหน่ายจากส่วนกลาง และใช้แสดงตัวให้กับผู้ซื้อสลากเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นรายย่อยที่ได้รับสิทธิจำหน่ายสลากจริง
ทั้งนี้ บัตรแสดงตัวผู้จำหน่ายสลากรายย่อยดังกล่าวจะใช้ควบคู่ไปกับสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการประทับเครื่องหมายหน้าสลาก เป็นรูปสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินจำนวน 43 ล้านฉบับ ตั้งแต่งวดวันที่ 16 ก.ย.57 เป็นต้นไป เพื่อทดสอบตลาดในระยะสั้น เพื่อให้ผู้ซื้อ ประชาชนทั่วไปทราบว่าผู้ค้าดังกล่าวเป็นรายย่อยหรือไม่ มีการสวมสิทธิหรือไม่ และจำหน่ายสลากในโควตาของรายย่อยหรือไม่ เนื่องจากสลากดังกล่าวมีการรับออกไปจากสำนักงานในราคาฉบับละ 74.40 บาท ดังนั้นหากไปขายในราคาทดสอบที่ประมาณ 90 บาทต่อฉบับ ก็ถือว่ามีกำไรเพียงพอแล้ว และเป็นการขายในราคาที่สูงกว่า 80 บาท
นายสมชัย กล่าวว่า หากประชาชนผู้บริโภค พบว่ามีผู้ค้าขายเกินราคาหน้าสลาก ในส่วนที่เป็นรายย่อยสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีการคือ 1.อย่าเพิ่งตัดสินใจซื้อ หรือ 2.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าจับกุม ทั้งนี้ หากสำนักงานสลากฯรับทราบข้อมูล ก็สามารถที่จะนำรหัสผู้ค้ารายย่อยสอบข้อมูลย้อนหลัง หากพบว่าทำผิด 2 ครั้ง ก็จะยึดคืนโควตาทันที
ประธานกรรมการสลากฯ กล่าวว่า ส่วนโควต้าสลากสำหรับนิติบุคคลที่จะไม่มีการประทับตาเครื่องหมายสี่เหลี่ยมอีกกว่า 30 ล้านฉบับ เชื่อว่าเมื่อเข้มงวดกับผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้ผู้ค้ากลุ่มนี้ไม่ปรับเพิ่มราคาขาย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการเรียกกลุ่มผู้ค้าทั้งในส่วนที่เป็นสมาคม มูลนิธิ และนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียน เนื่องจากยังไม่หมดระยะเวลาสัญญา แต่ก็ได้สั่งให้ไปจัดทำแผนการกระจายโควตาสลากให้ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะจัดสรรให้กับใคร พื้นที่ใด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ์ รวมชุดขายราคาแพง และตรวจสอบว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้หรือไม่
สำหรับแผนระยะยาวนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเรียกร้องให้เพิ่มราคาสลากเป็น 100 บาท ก็เป็นแนวทางที่สามารถทำได้ แต่ผู้ค้าจะได้ประโยชน์อย่างไร หรือแนวทางการแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 3 คณะ คือ คณะกรรมการใหญ่ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ หรือแนวทางการจัดสรรสลากผ่านยี่ปั๊วจำเป็นต้องมีไว้อยู่หรือไม่ โดยเป็นหน้าที่ที่ผอ.สลากฯ คนใหม่ต้องดำเนินการ และคาดว่าจะอยู่ในแผนโฉมใหม่ของการปฏิรูปสลากในงวดวันที่ 16 ม.ค.58 ส่วนแนวทางเรื่องหวยออนไลน์ ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลปกครอง หากเห็นชอบให้ดำเนินการก็สามารถแก้ไขกฎหมายและดำเนินการได้
พล.ต.ฉลองรัฐ กล่าวว่า ในการดูแลราคาสลากระยะยาวจะต้องเน้นในเรื่องของกลไกตลาดมาควบคุมราคา โดยรูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ได้มีการหารือ เนื่องจากช่วงนี้จะต้องเน้นไปที่แผนการระยะสั้นที่จะตรวจสอบผู้ค้ารายย่อย 43 ล้านฉบับนี้ก่อน โดยสำนักงานจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่มากที่สุด และขอความร่วมมือให้ประชาชน อย่าซื้อสลากเกินราคา เนื่องจากต้นทุนสลากแค่ 74.40 บาท/ฉบับเท่านั้น