(เพิ่มเติม) เวทีปฏิรูปพลังงานยำเละ ปตท.ต้นเหตุบิดเบือนกลไกตลาด-หลวงปู่ฯนั่งเป็นประธาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 27, 2014 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เวทีเสวนา"การปฎิรูปพลังงานเพื่อความปรองดองของชาติ"ที่สโมสรทหารบกวันนี้ ผู้เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชนผู้ประกอบการด้านเชื้อเพลิง เข้าร่วมการเสวนา และมีหลวงปู่พุทธะอิสระเป็นผู้ดำเนินรายการ

ช่วงแรกของการเสวนา ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ที่มาจากเครือข่ายภาคประชาชนต่างแสดงความคิดเห็นพุ่งตรงไปที่การโจมตี บมจ.ปตท.(PTT) โดยเฉพาะประเด็นท่อก๊าซ ทั้งการใช้ประโยชน์ การถือครองสิทธิในท่อก๊าซส่วนที่นอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลปกครอง เช่น ท่อก๊าซในทะเล การกำหนดราคาขายน้ำมันและก๊าซในประเทศ การขายก๊าซให้ภาคอุตสาหกรรมในราคาต่ำ รวมถึงการถือครองหุ้น ปตท.ของคณะกรรมการและผู้บริหาร

ทั้งนี้ ตัวแทนของฝ่าย ปตท.นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะกรรมการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยทีมผู้บริหารหลายส่วนผลัดกันตอบคำถาม โดยบรรยากาศในการซักถามค่อนข้างตึงเครียด ขณะที่นายวีระ สมความคิด ได้เข้าร่วมฟังการเสวนา โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาพร้อมกับนางบุญยืน ศิริธรรมด้วยสีหน้าเรียบเฉย

การเสวนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การถามตอบปัญหา ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อคัดกรองคำถามล่วงหน้า ช่วงที่ 2 เป็นการถามตอบในห้องประชุม โดยไม่ต้องส่งเอกสารและช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาชี้นำทิศทางพลังงานของชาติ โดยแบ่งเวทีเป็น 2 ฝ่าย ฝั่งหนึงเป็นภาคประชาชน นักวิชาการและเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน อีกฝั่งหนึ่งเป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจจาก ปตท. กระทรวงพลังงาน และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนนำโดยนายวีระ สอบถามถึงข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกรณีที่ ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซให้รัฐไม่ครบ จากที่ต้องส่งคืนคิดเป็นมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ ปตท.กลับคืนคิดเป็นมูลค่าเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท โดยอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.51 ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งหนังสือระบุว่า ปตท.ยังส่งมอบทรัพย์สินไม่ครบ

นายไพรินทร์ ในฐานะตัวแทน ปตท.อธิบายรายละเอียดตั้งแต่ต้น และยืนยันว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้รัฐอย่างครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองแล้ว แต่วงเสานายังถกเถียงถึงการคืนท่อก๊าซในทะเล เพราะเห็นว่าเป็นทรัพย์ของรัฐ ขณะที่ ปตท.ยืนยันว่าไม่เข้าข่ายทรัพย์ที่จะต้องคืนตามคำสั่งศาลปกครอง เพราะศาลให้คืนสมบัติเฉพาะกรณีที่ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น และที่ผ่านมาศาลปกครองได้ส่งบันทึกไปยัง สตง.แล้ว ซึ่ง สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดๆ ทำให้ใช้เวลาในการอภิปรายเรื่องดังกล่าวกว่า 1 ชั่วโมงและไม่มีข้อสรุป

จากนั้นบรรยากาศในการซักถามดุเดือดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายปานเทพ ถามว่า การใช้ก๊าซแอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปริมาณมากกว่าการใช้ของประชาชนทั้งประเทศ แต่กลับจ่ายในราคาต่ำ โดยเฉพาะบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอิสระเป็นตัวแทนตอบคำถามว่า หากพิจารณารวมการใช้ก๊าซในภาคขนส่ง ซึ่งจะต้องรวมอยู่ในภาคประชาชนแล้วอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม นายปานเทพกลับนำเอกสารข้อมูลมาแสดงและถามคำถามเดิมซ้ำจนนำไปสู่การโต้เถียงกัน

ประเด็นคำถามจากตัวแทนฝ่ายประชาชน นักวิชาการบนเวทีนั้นยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นการตรวจสอบการทำงานของ ปตท. ข้อกฎหมายต่างๆ และการจ่ายเงินชดเชยและการจ่ายภาษีของภาคปิโตรเคมี ซึ่งตัวแทน ปตท.แจงว่า ข้อเสนอต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้หากมีการกำหนดเป็นนโยบายภาครัฐ ซึ่ง ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำตามแต่ทางภาครัฐเองจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกๆ ด้าน

การดำเนินรายการในช่วงแรกที่ให้ผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อตั้งคำถามต่อผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เวลาไปจนถึงเวลา 13.30 น. ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั่วไปสามารถถามคำถามและเสนอแนะได้ โดยประเด็นคำถามยังคงเป็นเรื่องราคาน้ำมัน การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและถามถึงความเป็นเจ้าของท่อก๊าซและเน้นย้ำว่าปิโตรเคมี หรือก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน

จากนั้นเวทีเสาวนาเปิดโอกาสให้มีการข้อเสนอถึงทิศทางพลังงานของประเทศไทย โดยนายวีระ เสนอว่า ขอให้สะสางข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงพลังงานกับกระทรวงการคลังที่มีมาก่อนหน้า แล้วค่อยเดินหน้าปฎิรูปและขอให้ส่งคืนท่อส่งก๊าซให้เป็นของรัฐทั้งหมด และให้ ปตท.ชดเชยค่าเสียหายที่ใช้ท่อส่งก๊าซในทะเล ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐมานานหลายปี ขณะที่พันโทหญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เสนอว่ารัฐควรจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน และยกเลิกนโยบายอุดหนุนก๊าซแอลพีจีให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ต้องจัดสรรให้ประชาชนอย่างเพียงพอก่อน และจะต้องกำหนดจริยธรรมของผู้บริหารอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเคมีให้เหมาะสม และขอให้ราคาก๊าซเป็นไปตามจริงไม่ต้องขึ้นอยู่กับตลาดโลก

ด้านมล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ เสนอให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้โครงสร้างราคาพลังงานเหมือนกับการส่งออกต่างประเทศ และให้มีการซื้อขายในราคาเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น โดยการเก็บเงินเข้ากองทุนมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหากองทุนน้ำมันเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง เพราะประชาชนไม่ต้องรับภาระในส่วนดังกล่าว นอกจากนี้ขอให้ ปตท.เปิดเผยสัญญาสัมปทานทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบในฐานะเจ้าของที่แท้จริง และควรจะยกเลิกระบบสัมปทาน และหันมาใช้ระบบการแบ่งผลประโยชน์หรือการจ้างผลิตแทน

หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า หลังจากการเสวนาในวันนี้ได้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันนำข้อมูลเอกสารมายืนยัน โดยเฉพาะกรณีท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งภาคประชาชนยังมีข้อข้องใจว่า ปตท.ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดได้ครบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการคืนท่อส่งก๊าซในทะเล แต่ทางฝ่าย ปตท.เองก็ยืนยันว่าได้ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงให้นำข้อมูลเอกสาร เพื่อรวบรวมแล้วเสนอ คสช.ภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าต่อไป

สำหรับการเสวนาในวันนี้เบื้องต้นเชื่อว่าทุกฝ่ายจะได้ข้อยุติในการถกเถียงเรื่องพลังงานฟอสซิลแล้ว โดยเตรียมจัดเสวนาเรื่องพลังงานทางเลือกต่อไปในอีก 1-2 เดือน เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงด้านพลังงานทดแทน และต้องการให้ได้ข้อยุติต่อไป

แต่นายวีระ กล่าวภายหลังงานสัมมนาว่า ปตท.ยังไม่สามารถตอบคำถามและข้อสงสัยได้กระจ่างในหลายเรื่อง และตอบไม่ตรงคำถาม โดยเฉพาะเรื่องท่อก๊าซ จึงเชื่อว่า ปตท.มีนัยแอบแฝงที่ไม่โปร่งใส และหาก ปตท. ยืนยันว่าการดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ก็ขอให้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงต่อสาธารณะชน และขอให้ภาครัฐเข้าไปถือครองหุ้นทั้ง 100% เพราะไม่เห็นความจำเป็นต้องให้เอกชนต้องเข้าถือหุ้น

อีกทั้งยืนยันว่าจะเดินหน้าเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปพลังงานต่อไป อาจจะเป็นรูปแบบการจัดเวทีแสดงความคิดเห็น และยืนยันว่าจะไม่มีการเดินคัดค้านอีก ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวที่ คสช.ระบุไว้ รวมทั้งจะส่งตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่จะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.


แท็ก ปรองดอง   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ