สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศพบว่า มูลค่าส่งออกหักสินค้าในหมวดทองคำขยายตัวได้เล็กน้อย แม้การส่งออกสินค้าโดยรวมกลับมาหดตัวอีกครั้ง ส่วนเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือนก.ค.57 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนก.ค.ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อเดือนอีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 68.5 และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลงอย่างไรก็ตามการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวร้อยละ-37.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -7.5ต่อเดือน
การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งสะท้อนได้จากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวร้อยละ -21.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.1 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์พบว่า หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อเดือน ขณะที่ยอดขายปูนซิเมนต์หดตัวร้อยละ-0.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อเดือน
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น โดยพิจารณาจากการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมได้จำนวน 200.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.0 ต่อปีเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ
ด้านอุปสงค์ต่างประเทศกลับมาหดตัวอีกครั้งสะท้อนจากการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ค.57มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อนำมูลค่าส่งออกหักสินค้าในหมวดทองคำพบว่า ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปีโดยในเดือนกรกฎาคม 2557 มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศ CLMV ขณะที่สินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ สินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคเกษตรกรรม โดยการผลิตในภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.6 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดยางพารา และมันสำปะหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง ทำให้ผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ ที่ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค.57 ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 89.7 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายประกอบกับการดำเนินกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs เป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.92 ล้านคน ซึ่งหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -10.9 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลโดยเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง อาเซียน และแอฟริกา ที่กลับมาขยายตัวได้ดี
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งนั้น สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 169.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้