แต่ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกในแต่ละเดือนต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมองว่ายังมีปัจจัยหนุนสำหรับไตรมาส 3-4 เนื่องจากเป็นช่วงของฤดูการผลิตที่ต้องผลิตเพื่อส่งออกมากอยู่แล้ว จากความต้องการสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็นปกติในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ การส่งออกไปยังประเทศจีน และประเทศใหญ่ 5 ประเทศในอาเซียนซึ่งพบว่าการส่งออกเริ่มชะลอตัวจากปัญหาทางเศรษฐกิจ
นายเอกนิติ กล่าวว่า ได้มีการรายงานให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบถึงสถานการณ์และภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น ภายหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศและปลดล็อกข้อจำกัดทางการเมืองให้คลี่คลายลง ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐขยายตัวได้ดีขึ้น ทำให้คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในปีงบประมาณ 2557 จะขยายตัวได้ที่ 91% จากปัจจุบันอยู่ที่ 75%
"สศค.ประเมินว่าภาครัฐยังมีเม็ดเงินเหลือเพียงพอที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 กรรมาธิการได้มีการเสนอให้ภาครัฐเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาส 1 เพิ่มเป็น 30% จากปกติเบิกจ่ายที่ 25% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเบื้องต้น สศค.ประเมินว่าหากภาครัฐสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณภาพรวมได้ 1 แสนล้านบาท จะช่วยสนับสนุนจีดีพีได้ 0.7-0.8%" นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า สศค.ยังไม่ได้มีการเสนอแพคเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมให้ คสช.พิจารณา แต่มีการเสนอให้ดึงเครื่องมือทางการคลัง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเม็ดเงินเพื่อเข้าสู่ระบบมาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญแทน พร้อมทั้งมองว่า หากจะมีการจัดทำแพคเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจจริง จะต้องมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน เพื่อให้มาตรการมีประสิทธิภาพที่สุด และไม่ใช่มาตรการที่เป็นประชานิยมจนเกินไป
อย่างไรก็ดี เห็นว่าในขณะนี้คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะใช้มาตรการภาษีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะภาษีเป็นเรื่องระยะยาวและไม่ใช้แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีด้วย