"วันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องแผนเตรียมความพร้อมของแผน PDP ใน 20 ปีข้างหน้า ได้มีการนำแผนไปเสนอแก่ประชาชนและนักวิชาการต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน ทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้าพลังงาน 2 ล้านล้านบาท และการใช้พลังงานมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 4.5% เราจะทำอย่างไรให้การเติบโตลดลง และทำให้การนำเข้าลดลง เพื่อประหยัดทุนสำรองและนำเงินไปใช้หมุนเวียนลงทุนอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์" นายอารีพงศ์ กล่าว
สำหรับก๊าซธรรมชาติในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP ปี 58-79) ตั้งเป้าลดสัดส่วนการใช้ให้เหลือ 30% จากแผนปัจจุบันที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนอยู่ที่ 57% และสร้างสมดุลในการใช้พลังงานด้านอื่น อย่างเช่น น้ำ ถ่านหินสะอาด และถ่านหินลิกไนต์ ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนค่าพลังงานให้ต่ำลงและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ อีกทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 และเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มีความมั่นใจเกี่ยวกับราคาต้นทุนพลังงานในประเทศไทย
"ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนพลังงานในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยังไม่มีการตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่แน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุนที่เขาไม่มั่นใจต้นทุนพลังงานของเราในขณะนี้" นายอารีพงศ์ กล่าว
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันว่า ยังมีการดำเนินการเป็นปกติไม่ได้มีแผนยกเลิก เนื่องจากกองทุนน้ำมันเป็นสิ่งที่ช่วยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด และทำให้ราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงราคาไม่มากเกินไป ช่วยให้ไม่กระทบการเปลี่ยนแปลงรายจ่ายของประชาชน ซึ่งการปรับราคาน้ำมันเบนซินลดลง 3 บาท และเก็บภาษีน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 75 สตางค์ เป็นการทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่เกิดความแตกต่างกันมากนัก
"เรื่องของกองทุนน้ำมัน ในช่วงเช้าที่ผ่านมาที่มีการประกาศปรับราคาน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันเบนซินลดลง 3 บาท และกองทุนก็เก็บภาษีน้ำมันดีเซลเพิ่มเป็น 75 สต. ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในประเทศไม่แตกต่างกันมาก และไม่บิดเบือนตลาด สะท้อนให้เห็นราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริง ที่ผ่านมาเราเก็บภาษีน้ำมันเบนซินเยอะ ดีเซลน้อย ตอนนี้ราคาเบนซินลดลง มีรถจักรยานยนต์ 20 ล้านคนได้ประโยชน์ ส่วนกองทุนน้ำมันยังดำเนินการไปตามปกติ ไม่ยกเลิก เพราะเป็นการช่วยราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่เปลี่ยนแปลงหวือหวาจนกระทบรายจ่ายของประชาชน" ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุ
นายอารีพงศ์ ยังกล่าวถึง การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องการปฏิรูปพลังงานว่า เป็นหนึ่งในประเด็นการปฏิรูปในระดับชาติ ซึ่งกระทรวงพลังงานเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อเรื่องพลังงาน จึงได้สานต่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเกี่ยวกับทิศทางพลังงานของไทย เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของชาติในระยะยาวต่อไป
โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็น "ทิศทางพลังงานไทย" จะจัดให้มีขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากการสัมมนาครั้งนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ กระทรวงพลังงานมีกำหนดการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะรวบรวมข้อมูลที่ได้รับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2557 จากนั้นจะนำข้อเสนอจากการรับฟังตามภูมิภาคมาสรุปประมวลผลที่กรุงเทพฯ
เนื้อหาในการสัมมนาจะระดมความเห็นเกี่ยวกับแผนหลักๆ ด้านพลังงาน ทั้งจากแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตลอดจนแผนด้านการจัดหาพลังงาน เพื่อปรับปรุงแผนด้านพลังงานด้านต่างๆ ที่มีอยู่พัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้ากับกำลังผลิตไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคยังคงมีบางส่วนที่ต้องได้รับการพัฒนาให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ เช่น ในภาคใต้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า 2,416 เมกะวัตต์ ขณะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 2,683 เมกะวัตต์ และเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงต้องดูความเหมาะสมของประเภทของโรงไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์พลังงานชาติในภาพรวมที่สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานทั่วประเทศจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจต่อแผนด้านพลังงานต่างๆ มากขึ้น และจะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับมาสรุปเป็นข้อมูลนำเสนอเพื่อการกำหนดเป็นนโยบายพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป