"ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้ดีนะ เราได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ในเวลาสำคัญ เชื่อมั่นว่าความรู้ความสามารถของท่านทั้งหลายจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ"นายโฆสิต กล่าว
ส่วนการทำงานภายใต้รัฐบาลทหาร ตนเองมองว่าความสงบของประเทศชาติมีความสำคัญที่สุด ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความสงบเป็นข้อแม้ที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาบริหารประเทศร่วมกัน ขณะที่ก็เห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับยุคสมัย และเชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับกับสังคมโลกได้
"ไม่มีประเทศไหนที่เดินหน้าได้โดยไม่มีความสงบ เห็นได้จาก ยูเครน อิรัก หรือแม้กระทั่งอิสราเอล มันเดินหน้าไม่ได้ทั้งนั้น ฉะนั้น ความสงบเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเดินหน้าประเทศภายใต้กรอบนี้ ผมคิดว่าต่างชาติน่าจะเข้าใจในเหตุผล สำหรับไทยก็คงไม่มีปัญหา" นายโฆสิต กล่าว
นายโฆสิต กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โอกาสที่จะเติบโตได้ในปีนี้ 1.5-2% (อิงตามข้อมูลของสภาพัฒน์) น่าจะเป็นไปได้ ขณะที่ก็มองว่ายังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงกับแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้นหรือประชานิยม เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อวินัยการออม รวมถึงก่อให้เกิดหนี้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ถูกต้องคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้รู้จักการออม โดยปัจจุบันการออมภาคครัวเรือนลดลงเหลือ 5% เมื่อเทียบกับปี 42 ที่อยู่ในระดับ 10% ขณะที่อายุขัยของคนไทยจะนานขึ้น หรือเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งหากไม่มีการออมเงินจะมีปัญหาในอนาคตได้
ขณะที่ปี 58 คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะเติบโตได้ 4% เป็นไปตามศักยภาพของประเทศ และเติบโตจากฐานที่ต่ำในปี 57
นายโฆสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยค่อนข้างผันผวน จากที่มีการรับข่าว นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากตัวเลขภาคแรงงานออกมาดี ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเทขายหุ้นออกไป ซึ่งมองว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน แต่จะเป็นการปรับขึ้นในปีหน้า เตือนนักลงทุนอย่างตื่นตระหนก
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาวให้ได้ จะเห็นได้จากปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยที่ผ่านมาคาดว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 3/57 แต่กลับไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว และยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวติดลบ และไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะขยายตัวในปีนี้ได้ 3% ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงเหลือ 1-1.5%
ทั้งนี้จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและยางพารา ที่ราคาอยู่ในระดับที่ทรงตัว ซึ่งน่าจะมีผลต่อกำลังซื้อของไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆค่อนข้างนิ่ง ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และเด็กที่จบการศึกษาใหม่ก็จะหางานทำได้ช้า