อ.ส.ย.คาดสรุปขายยางกว่า 1 แสนตันเร็วๆ นี้มั่นใจราคาดีกว่าล็อตแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2014 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เปิดเผย "อินโฟเควสท์"ว่า คาดว่าจะสรุปการขายยางล็อตที่ 2 ได้เร็วๆนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางการขายยางให้ได้มากกว่ายางที่เหลืออยู่ในสต็อก 108,000 ตัน และมั่นใจว่าจะขายได้ราคาดีกว่าการขายล็อตแรก
"ไหนๆจะขายยางในสต็อกที่เหลือแล้ว ก็น่าจะขายได้มากกว่าที่มีอยู่ ตอนนี้กำลังคุยรายละเอียดกับผู้ขาย ขณะที่ผู้สนใจซื้อก็มีมากกว่า 1 ราย แต่เราอยากสรุปให้เหลือรายเดียว แต่มั่นใจว่าจะต้องได้ราคาดีกว่าคราวที่แล้ว"นายชนะชัย กล่าว

นายชนะชัย กล่าวว่า สำหรับการเซ็นสัญญาจำหน่ายยางล็อตแรกจำนวน 100,000 ตัน กำหนดราคายางแท่ง 58 บาท/กก.และยางแผ่น ราคา 62 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขายยางในสต็อกทั้งหมดจะมีผลขาดทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท จากจำนวนเงินที่ใช้ดำเนินโครงการรับซื้อยางจากเกษตรกรทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท แต่หากสามารถขายได้ก็ควรขายก็ดีกว่าปล่อยให้ยางค้างอยู่ในสต็อกนานเกินไป

"ยังไงก็ขาดทุนอยู่แล้ว ใช้เงินทำโครงการ 22,000 ล้านบาทซื้อขายเข้าสต็อก 208,000 ตัน ตอนนั้นราคา 100 กว่าบาท/กก. ...ขายได้กำไรหรือขาดทุนไม่ใช่ประเด็น เป็นเรื่องของการ Cut Off เพื่อให้วงจรเข้าสู่ปกติ เรื่องนี้สำคัญกว่า...ถึงเก็บยางในสต็อกไว้ก็ใช่ว่ายางจะกลับไปที่ 100 กว่าบาทได้"ผู้อำนวยการ อ.ส.ย.กล่าว

นายชนะชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ราคายางในประเทศผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมั่นใจว่าราคายางน่าจะฟื้นกลับขึ้นไปได้แล้ว ยิ่งหากกำจัดข่าวลบต่างๆ ในตลาดออกไปได้ โดยเฉพาะข่าวเรื่องสต็อกยางของรัฐบาลที่ทุกคนเกรงว่าหากมีการระบายยางในสต็อกออกมาราคาจะตก ซึ่งข่าวนี้ถูกเล่นอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เรากำลังตัดวงจรของปัญหานี้ ราคายางก็ต้องเปลี่ยนทิศทาง ทุกอย่างกำลังกลับสู่สภาวะปกติ

"ปัญหาหลักของราคายางในประเทศอยู่ที่โครงสร้างตลาดเพราะมีผู้เล่นหลากหลายประเภท ทั้งเทรดเดอร์ ยี่ปั๊วะซาปั๊วะ สถาบันเกษตรกร เกษตรกร ปัญหาที่เกษตรกรขายยางไม่ได้ราคาเพราะไม่สามารถติดต่อกับโรงานแปรรูปได้โดยตรง อีกส่วนหนึ่งมาจากโครงการแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งมองว่าโครงการนี้เริ่มต้นมาถูก แต่ในทางปฏิบัติผิดเพี้ยน เพราะไม่ได้มีการชดเชยเรื่องผลขาดทุน ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาเต็มตัวทำให้โครงสร้างราคายางมีปัญหาและราคายางต้องอ้างอิงกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าซึ่งบริโภคข่าวสารเป็นหลัก ข่าวทุกข่าวมีผลต่อราคายางอย่างที่กล่าวไปในตอนต้น" ผู้อำนวยการอ.ส.ย.กล่าว

ทั้งนี้ การแทรกแซงกลไกในตลาดด้วยการสต็อกไว้นานไม่เป็นผลดีต่อการบริหารราคายาง นอกจากนี้ ยังมองว่าการพัฒนาคุณภาพเกษตรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ และเดินหน้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในประเทศผู้ซื้ออื่นๆ ที่ไทยยังเป็นรองอินโดนีเซียและมาเลเซีย เช่นในตลาดรัสเซีย ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ