สำหรับการจับเก็บภาษีมรดก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความข้อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อได้ข้อสรุปได้จะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาอีกครั้ง ส่วนแนวทางการปรับภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะดำเนินการเพื่อให้เกิดควาเมป็นธรรมกับผู้เสียภาษีมากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนทางข้อกฎหมาย และการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาสู่ระบบภาษีมากขึ้น
ขณะที่ภาษีเพื่อการท่องเที่ยวนั้น เบื้องต้นมีความชัดเจนแล้วว่าในส่วนบุคคลธรรมดาจะให้นำค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและแพคเกจท่องเที่ยวต่างๆ มาหักลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท/ปี ขณะที่นิติบุคคลจะให้นำค่าจัดประชุม อบรม สัมมนามาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยไม่กำหนดเพดานขั้นสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากภาษีปีละประมาณ 2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการแก้ไขประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการ Tranfer Pricing เพื่อแก้ปัญหาบริษัทที่ขายสินค้าให้บริษัทในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า และโอนกำไรกลับมา คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา
นายประสงค์ กล่าวถึงแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปี 57 คาดว่าจะต่ำเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท เนื่องจากตามปกติในเดือนส.ค. และก.ย. การจัดเก็บรายได้จะเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 2 แสนล้านบาท แต่ในเดือก.ย.มีปัจจัยเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทรถยนต์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการรถคันแรกในส่วนนี้อาจทำรายได้ในส่วนนิติบุคคลหายไปประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปีงบฯ 58 กรมฯ มั่นใจว่าการจัดเก็บภาษีจะเป็นไปได้ตามเป้าที่ 1.965 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจในปี 58 มีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับกรมฯ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี การตรวจเข้มภาษีต่างๆ อย่างใกล้ชิด