ธ.ก.ส.เร่งอนุมัติสินเชื่อ-ขยายเวลาชำระหนี้เกษตรกรชาวสวนยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 4, 2014 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้อนุมัติวงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางและสนับสนุนสินเชื่อแปรรูปยางพาราให้แก่สหกรณ์ 723 แห่งทั่วประเทศ สนับสนุนเครือข่ายสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งเป็นมืออาชีพ 24 แห่ง เป็นศูนย์รวบรวมและแปรรูปยางพาราเพื่อการส่งออก พร้อมทบทวนขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ

ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อภายใต้แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 2 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยางวงเงิน 10,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ประสานการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัด สำนักงานสงเคราะห์กองทุนสวนยาง และสหกรณ์ที่จะเข้าร่วมโครงการทั้ง 723 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารฯ พร้อมปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรทั้ง 723 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์กองทุนสวนยาง(สกย.) 466 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 189 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร 68 แห่ง โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคใต้ 14 จังหวัด 395 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด 206 แห่ง ภาคตะวันออก 6 จังหวัด 61 แห่ง ภาคเหนือ 12 จังหวัด 43 แห่ง และภาคกลาง 4 จังหวัด 18 แห่ง

ซึ่งเบื้องต้น ธนาคารฯ เห็นชอบวงเงินสินเชื่อให้กับสหกรณ์เพื่อนำไปรวบรวมยางพาราแล้ว 281 แห่ง เป็นวงเงิน 2,880 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 442 แห่ง ธนาคารฯ จะเร่งดำเนินการปล่อยเงินกู้ในเดือนกันยายนอีก 4,000 ล้านบาท เดือนตุลาคม 2,000 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายน 1,000 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตามโครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557-30 มิถุนายน 2558 กำหนดคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน โดยสหกรณ์จะรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% ต่อปี และรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 3% ต่อปี

สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาท ธนาคารฯ จะสนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจรวบรวมและแปรรูปยางในเบื้องต้นจำนวน 24 แห่ง รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในการรวบรวมยางพารา โดยกระจายจุดรวบรวมครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพารา 5 จุดใหญ่ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี 2 จุด จังหวัดบุรีรัมย์ 1 จุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 จุด และจังหวัดยะลา 1 จุดโดยให้ศูนย์เป็นผู้รวบรวมยางจากสหกรณ์ในเครือข่ายเพื่อนำไปจำหน่ายหรือนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกต่อไป

"โครงการนี้จะช่วยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกว่า 723 แห่งมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ การรวบรวมและรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ให้แก่ชาวสวนยางมากขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าว

เบื้องต้นคาดการว่า โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5 พันบ้านบาทนั้น จะสามารถดูดซับปริมาณยางพาราออกจากระบบได้รวมกันทั้งสิ้น 1.3 แสนตันต่อ 1 รอบการผลิต และคาดว่าจะสามารถผลักดันราคายางพาราในตลาดให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น จากระดับราคายางแผ่นดิบปัจจุบันอยู่ที่ 54.99 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคายางส่งออก (เอฟโอบี) อยู่ที่ 57.25 บาท / กิโลกรัม

“ทั้ง 2 โครงการนี้จะช่วยทำให้ราคายางพาราของไทยปรับขึ้นมาอยู่ในระดับทรงตัวและมีโอกาสที่จะขยับเพิ่มขึ้นได้ แต่จะเพิ่มเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องและมีผลต่อระดับราคายางพารา แต่มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้มีเม็ดเงินเข้าระบบได้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้หากรวมกับโครงการที่ธนาคารออมสินเตรียมสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพารา วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทแล้ว ประเมินว่าจะช่วยดูดซับปริมาณยางพาราออกจากระบบได้ทั้งสิ้นราว 2-3 แสนตัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่มีหนี้เงินกู้อยู่กับ ธ.ก.ส.ประมาณ 360,000 ราย คิดเป็นเงิน 40,000 ล้านบาท หลังเกิดปัญหาราคายางตกต่ำทำให้เกษตรกรบางรายมีรายได้ลดลง ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการพิจารณาผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยการทบทวนความสามารถในการชำระหนี้ (Loan Review) ของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีปัญหา เช่น ปรับตารางการชำระหนี้ใหม่และหรือการขยายระยะเวลาชำระหนี้โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริงของลูกค้าต่อไป

"ธนาคารยังมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในช่วงที่ราคาตกต่ำด้วย โดยจะมีการทบทวนตารางการชำระหนี้ หรือขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปในรายที่พบว่ามีปัญหาในการชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการเกิดหนี้เสียจากเกษตรกรในกลุ่มนี้ ที่ปัจจุบันเป็นลูกค้าของธนาคารราว 3.6 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของสินเชื่อรวมของธนาคารที่ 8 แสนล้านบาท"

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณสต็อกยางพาราในประเทศที่มีอยู่จำนวนมาก รวมถึงการนำเข้ายางพาราจากจีนปรับตัวลดลง และกลับมาเร่งการผลิตยางพาราในประเทศได้เองเป็นปีแรก จึงส่งผลต่อระดับราคายางพาราที่ส่งออกค่อนข้างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ