ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น หลังมีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งมีประชากรมากถึง 600 ล้านคน และควรใช้โอกาสนี้ที่จะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างตราสินค้าที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยภาครัฐควรให้การสนับสนุนในรูปแบบการยกเว้นภาษีเพื่อจูงใจ
"ภาคเอกชนพยายามที่จะก้าวต่อไปให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตมากขึ้น เราจึงต้องมาปฏิรูปธุรกิจกันใหม่ เพื่อก้าวไปข้างหน้าอยางมั่นคงและยั่งยืน" นายอิสระ กล่าว
พร้อมระบุว่า ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลใหม่ และมั่นใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้การจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้นั้น จะต้องเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมด้วย
นายอิสระ กล่าวว่า สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะอันใกล้นี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อมีการใช้จ่ายจากภาครัฐลงไปในระบบเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะภาคการเกษตรแล้วก็เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่น่าจะได้ผลเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งปลดล็อคอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน การใช้มาตรการทางภาษี การส่งเสริมการค้าภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนดีขึ้น
"มาตรการระยะยาวนั้น กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลา แต่มาตรการระยะสั้นที่จะทำได้ก่อนเลย คือ การใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้เงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กระตุ้นภาคแรงงานและภาคบริการให้มีการใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเมื่อเอกชนเกิดความมั่นใจแล้ว ก็จะทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา" นายอิสระ กล่าว
ด้านนายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนาฯในวันนี้ เพื่อเสนอภาพรวมของบรรยากาศทางธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไทยทั้งด้านบวกและลบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การแข่งขันในเวทีนานาชาติ ทั้งตลาดเกิดใหม่และการรักษาตลาดเก่าไว้
พร้อมมองว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามโรดแมพที่กำหนดไว้