(เพิ่มเติม1) ภาคเอกชนมั่นใจต่างชาติเชื่อมั่นมากขึ้นหลังรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนศก.หนุนลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 8, 2014 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ Business Reform to Move Forward ในการสัมมนายุทธศาสตร์สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ว่า ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวของไทยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้อันดับความสามารถในการแข่งขันลดลง แต่ปัจจุบันสถานภาพทางการเมืองดีขึ้นหลังมีรัฐบาลใหม่และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของประเทศแล้วทำให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะมีแนวโน้มในการขยายตัวที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น หลังมีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งมีประชากรมากถึง 600 ล้านคน และควรใช้โอกาสนี้ที่จะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างตราสินค้าที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยภาครัฐควรให้การสนับสนุนในรูปแบบการยกเว้นภาษีเพื่อจูงใจ

"ภาคเอกชนพยายามที่จะก้าวต่อไปให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตมากขึ้น เราจึงต้องมาปฏิรูปธุรกิจกันใหม่ เพื่อก้าวไปข้างหน้าอยางมั่นคงและยั่งยืน" นายอิสระ กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลใหม่ และมั่นใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้การจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้นั้น จะต้องเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมด้วย

นายอิสระ กล่าวว่า สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะอันใกล้นี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อมีการใช้จ่ายจากภาครัฐลงไปในระบบเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะภาคการเกษตรแล้วก็เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่น่าจะได้ผลเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งปลดล็อคอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน การใช้มาตรการทางภาษี การส่งเสริมการค้าภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนดีขึ้น

"มาตรการระยะยาวนั้น กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลา แต่มาตรการระยะสั้นที่จะทำได้ก่อนเลย คือ การใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้เงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กระตุ้นภาคแรงงานและภาคบริการให้มีการใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเมื่อเอกชนเกิดความมั่นใจแล้ว ก็จะทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา" นายอิสระ กล่าว

ด้านนายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนาฯในวันนี้ เพื่อเสนอภาพรวมของบรรยากาศทางธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไทยทั้งด้านบวกและลบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การแข่งขันในเวทีนานาชาติ ทั้งตลาดเกิดใหม่และการรักษาตลาดเก่าไว้

พร้อมมองว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามโรดแมพที่กำหนดไว้

Mr.Stanley Kang ประธานหอการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ยอมรับว่าประเทศไทยมีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น ไม่เห็นความวุ่นวายเหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินหน้าได้ ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา ซึ่งทำให้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ส่งผลให้ต่างประเทศเริ่มมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องการจะเห็นจากนี้ไป คือขอให้รัฐบาลใหม่วางแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าให้มีความชัดเจน เพื่อที่จะให้ภาคธุรกิจ รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติสามารถเห็นถึงแนวโน้มการขับเคลื่อนประเทศของไทยว่าจะมุ่งไปในทิศทางใด เพื่อที่ภาคธุรกิจเอกชนจะได้ปรับกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจให้มีความสอดคล้อง ขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนหรือขยายธุรกิจในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และสุดท้ายต้องทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นลดน้อยลง เพื่อให้การทำธุรกิจในประเทศไทยมีความสะดวกราบรื่น และสร้างความได้เปรียบในการลงทุนให้มีความเสมอภาคกัน

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งในช่วงครึ่งปีแรกว่า มีการเติบโตเพียง 3.7% จากปีก่อน เหตุเพราะกำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือน

แต่หลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของในยุโรปและอเมริกาเติบโตดีขึ้น จึงคาดว่าจะมีส่วนให้ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งช่วงครึ่งปีหลังนี้เติบโตได้ 5-6% และในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 7-8%

อย่างไรก็ดี จะต้องมีการเตรียมยุทธศาสตร์ด้านค้าปลีก-ค้าส่งเพื่อรองรับกับการเติบโตของตลาดในอนาคตที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับการเติบโตของตัวเมืองที่จะขยายออกไปยังแถบชานเมืองอีก 50% จากปัจจุบัน ดังนั้นภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ความสนใจในเรื่องของระบบไอทีและโลจิสติกส์มากขึ้น และที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลักสำคัญ

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจเกษตร อาหาร และเกษตรพลังงานว่า ในอนาคตปริมาณประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณการผลิตพืชเกษตรที่เป็นอาหารและพลังงานที่เท่าเดิมหรืออาจจะลดลง จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่น การจัดระบบการผลิตให้เป็นแบบห่วงโซ่ทั้งหมด, แยกแยะระหว่างสินค้าเกษตร, เกษตรอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการเกษตร, การทำมาตรฐานสินค้าเกษตร, การจัดโซนนิ่ง, การใช้เทคโนโลยีการผลิต และการอุดหนุนสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชพลังงานที่มองว่ายังจำเป็นต้องมีการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ เพียงแต่ต้องทำให้เป็นระบบและเข้าไปอุดหนุนในช่วงจังหวะที่เหมาะสม

นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวว่า ธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพของไทยถือว่าเป็นที่ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ โดยจะเห็นได้จากรายได้ในส่วนนี้คิดเป็น 14-15% ของรายได้ด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาพรวมของธุรกิจนี้ในตลาดโลกมีมูลค่าถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้ปีละ 9% ซึ่งเห็นว่าประเทศไทยยังมีช่องทางที่สดใสในธุรกิจนี้ ด้วยการใช้เครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ควบคู่กันไป เช่น การประสานระหว่างธุรกิจโรงพยาบาล กับธุรกิจบริการด้านสุขภาพ-ความงาม โดยจะต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานบริการให้เป็นที่ยอมรับ และทำตลาดที่เจาะจงมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความได้เปรียบและมีความพร้อมกว่าอีกหลายประเทศอยู่มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ