"จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงตกสะเก็ดอยู่ ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตน้อยลง เริ่มเข้าสู่ภาวะการชำระหนี้หลังแอ่น และเริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชะระหนี้เกิดขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนมีรายได้น้อย แต่มีผลต่อภาพรวมสังคมที่การผิดนัดชำระหนี้เหล่านี้จะกลายเป็นหนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย ซึ่งสุดท้ายจะมีผลทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่คึกคัก เพราะคนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ต้องเอาเงินที่มีไปชำระหนี้ก่อน" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภค เพราะขณะนี้เริ่มพบว่า ยอดขายสินค้าบางรายการไม่กระเตื้องขึ้นเลย และหากรัฐบาลยังเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นไม่ทันไตรมาส 4 ของปีนี้ จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยปีนี้ดูอึมครึม และจะโตได้เพียงแค่ 1.5% เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป และจะกลายเป็นวงเวียนภาระหนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้จ่ายเงินมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ และสุดท้ายจะทำให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบตามมาเป็นเงาตามตัว
ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชน จัดทำขึ้นช่วงวันที่ 1-6 ก.ย.ที่ผ่านมา จากจำนวน 1,198 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ 82% จะมีถือบัตรเครดิตประมาณ 2 ใบต่อคน ส่วนอีก 18% มีการถือบัตรเครดิตมากถึง 3-4 ใบต่อคน และมีความถี่ในการใช้บัตรเครดิตเฉลี่ย 2 ครั้งต่อเดือน มูลค่าในการใช้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6,534 บาทต่อเดือน โดยจำนวนนี้ในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าจะมีการใช้ที่ลดลง ทั้งความถี่และมูลค่า เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังแย่ กลัวเป็นหนี้มากขึ้น รายได้ลดลง และวงเงินเต็มแล้ว ซึ่งวงเงินส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4.3 เท่าของรายได้