ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้นโยบายว่าต้องจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้สูงเพื่อนำมาช่วยเหลือสังคม และไม่ให้กระทบกับชนชั้นกลาง ภาษีมรดกจะเก็บจากผู้รับมรดกไม่ใช่เก็บจากกองมรดก ซึ่งหากยังไม่มีการโอนก็จะไม่มีการเก็บภาษี โดยจะเป็นการเก็บครั้งเดียวและอัตราเดียว ส่วนผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษีจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร
"มีรายละเอียดที่ต้องทำให้ชัดเจนทั้งในส่วนของการยกเว้นและการลดหย่อนว่าจะได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งจะมีการออกประกาศเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมในภายหลัง...ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการตีความในเรื่องของตัวผู้เสียภาษีในภายหลัง"นายประสงค์ กล่าว
นายประสงค์ กล่าวว่า กระบวนการออกกฎหมายนั้น เมื่อผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีกครั้ง เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จากนั้นเมื่อผ่านความเห็นชอบจึงจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
สำหรับหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีมรดก คือ สรรพากรพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยฐานของผู้เสียภาษีจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย หากเจ้าของมรดกเสียชีวิตก็จะมีการแจ้งข้อมูลเข้ามาที่กรมสรรพากร รวมทั้งธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งข้อมูลการโอนถ่ายทรัพย์สินของผู้ตายด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้รับมรดกจะต้องมาแจ้งข้อมูลทรัพย์สินที่นำมาใช้คำนวณภาษีต่อกรมสรรพากรด้วย หากแจ้งเท็จจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา