ดังนั้น การปรับโครงสร้างอยู่บนหลักการที่ราคาทุกชนิดควรเสียภาษีเท่ากันถึงจะเป็นธรรมกับคนใช้ดังนั้นเป็นที่ชัดเจนว่าควรปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตกับน้ำมันดีเซล เพราะปัจจุบันเสียภาษีสรรพามิตต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเดิมใช้นโบายประชานิยมตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่ เม.ย.54 ส่วนการใช้ก๊าซ LPG เห็นว่าการสนับสนุนให้ใช้ในภาคครัวเรือนและใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นการเหมาะสม แต่การใช้ LPG กับภาคขนส่งไม่เหมาะสม ส่วนก๊าซ NGV ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่ง
"LPG เหมือนเป็นของที่มีค่าที่สุดเปรียบเหมือนมะพร้าวที่เราเอาไปเผาทั้งลูก ฉะนั้น เราก็ต้องใช้ให้เหมาะสม...ถ้าปล่อยให้คนใช้ LPG มากขึ้นพังแน่นอน" นายณรงค์ชัย กล่าว
ส่วนที่สองด้านการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป เพราะไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผนงาน และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกได้ไม่มากพอ เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน
"จากข้อมูลพบว่าการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซมากเกินไป ซึ่งก๊าซในอ่าวไทยจะหมดใน 7 ปี จึงจะต้องหาแนวทางบริหารแหล่งสัมปทานที่ใกล้หมดอายุในปี 65 และการเปิดสัมปทานรอบใหม่หรือรอบที่ 21 ที่จะดำเนินการให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ขณะเดียวกัน ดำเนินการจัดหาแหล่งพลังงานใหญ่ได้แก่พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา รวมทั้งการจัดหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมในพม่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน"นายณรงค์ชัย กล่าว
ส่วนที่สามด้านเทคโนโลยี ที่มีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องการประหยัดพลังงาน แต่การใช้ยังไม่แพร่หลาย และ สุดท้ายส่วนที่สี่ คือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงาน ที่ต้องเร่งสร้างระบบธรรมาภิบาลจนถึงระดับที่จะสร้างความมั่นใจให้สังคมไทยได้มากพอว่า ประชาชนจะมีพลังงานใช้อย่างมั่นคง ทั่วถึง โปร่งใส และเป็นธรรม
ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภาฯ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยตรง คือการปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุน และให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงดำเนินการให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรอบใหม่ทั้งในทะเลและบนบก และดำเนินการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งการใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงและจากพลังงานทดแทนทุกชนิด ด้วยวิธีการที่เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม พร้อมกับร่วมมือกับประเทศเพื่อบ้านในการพัฒนาพลังงาน
แผนปฏิบัติการและมาตรการที่วางกรอบไว้ว่าต้องดำเนินการต่อไป คือ การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวฉบับใหม่ การจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงพลังงานทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การจัดทำโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานทดแทน มุ่งเป้าให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มระดับธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐด้านพลังงาน ให้มีการเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่โปร่งใส
พร้อมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงานได้นำแผนงานต่างๆ ไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในภูมิภาคแล้ว 2 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และขอนแก่น โดยแต่ละครั้งมีผู้สนใจเข้าร่วมให้ความเห็นกว่า 500 คน ซึ่งจะมีการจัดอีก 2 ครั้ง ในภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ และภาคใต้ ที่สุราษฏร์ธานี เพื่อให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง เพิ่มความรู้ความเข้าใจ และนำทุกความเห็นมาใช้ในการปรับแผนพลังงานที่นำไปสู่การปฏิรูปพลังงานไทยที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานภาครัฐด้านพลังงานมากขึ้น
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า กระทรวงพลังงานกำลังเตรียมแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP)ฉบับใหม่ โดยที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซถึง70% ในขณะที่ก๊าซในประเทศกำลังจะหมด การนำเข้ามีราคาแพงซึ่งทำให้ต้นทุนไฟฟ้าแพงไปด้วยจึงควรจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแหล่งอื่นได้แก่ถ่านหินส่วนพลังงานจากนิวเคลียร์ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ต้องไม่ทิ้งเพราะแนวโน้มจะต้องมีการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์
นอกจากนี้ การจัดทำโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานทดแทนมุ่งเป้าให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เพิ่มระดับธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐด้านพลังงาน ให้มีการเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่โปร่งใส
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานจะออกมาตรการ(Action Plan) ที่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานจะเริ่มประชุมในวัน 17 ก.ย.นี้ รวมทั้ง จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบริหารจัดการแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานโดยมีนายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธาน