"ปีนี้ยังคาดว่าการส่งออกจะโตได้ที่ 3% กว่าๆ และจะไม่มีการปรับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 3.5% เพราะเป็นเป้าทำงาน หากผลักดันเต็มที่แล้วทำได้ไม่ถึงเป้า ก็ไม่เป็นไร ส่วนปี 58 ตั้งเป้าไว้ว่าจะโตได้ 4% แต่ผมอยากผลักดันให้ส่งออกโตถึง 10% ด้วยซ้ำ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
พร้อมกันนี้ เตรียมเชิญผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคมาหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการดูแลราคาสินค้า เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยหลังจากหารือกันแล้วจึงจะตัดสินใจว่าควรจะต่ออายุมาตรการขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าออกไปหรือไม่ จากที่มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย.นี้
"การต่ออายุมาตรการ ต้องดูสถานการณ์ก่อน โดยจะเรียกผู้ประกอบการสินค้ามาคุย เพื่อสร้างความเข้าใจ ยอมรับว่าราคาสินค้ามีความผันผวน แต่อยากให้ทุกคนนึกถึงผลประโยชน์ของชาติ ยืนยันว่าผมไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ระหว่างเจรจากับเอกชนแน่นอน" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การดูแลราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าข้าวนั้น ยืนยันว่าจะไม่เน้นการใช้มาตรการแทรกแซง แต่หากจำเป็นต้องแทรกแซง ก็จะใช้มาตรการแทรกแซงให้น้อยที่สุด แต่จะเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้ชาวนามากกว่า โดยเป้าหมายของการดูแลข้าวฤดูกาลใหม่ให้ชาวนานั้นได้ตั้งเป้าราคาข้าวเปลือกควรอยู่ที่ 8,500-9,000 บาท/ตัน ซึ่งขณะนี้มีมาตรการรองรับในการดูแลราคาข้าวไว้แล้ว แต่คงไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของตลาด
สำหรับข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 18 ล้านตัน ยืนยันว่าจะไม่หยุดระบาย และจะยังระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเป็นช่องทางใดต้องดูภาวะตลาด ซึ่งขณะนี้มีหลายรูปแบบที่ใช้ ทั้งการขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี), การขายให้กับเอกชน โดยในช่วงที่ข้าวผลผลิตข้าวใหม่ออกสู่ตลาดก็จะเน้นขายไปในตลาดต่างประเทศ
โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีการทำงานร่วมกับเอกชนในการหาตลาดข้าวไว้รองรับข้าวฤดูกาลใหม่ที่จะผลักดันราคาให้เพิ่มขึ้น ทั้งตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอิหร่าน ที่ล่าสุดปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับประเทศอิหร่านแล้ว และอาจมีการขายข้าวให้ โดยในเดือนพ.ย.ไทยได้เชิญอิหร่านมาเจรจาซื้อขายข้าวเพิ่มเติม
"การขายข้าวให้จีน ล่าสุดได้มีการเจรจากับคอฟโก ในส่วนสัญญาเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ 1 ล้านตัน และได้ส่งมอบไปแล้ว 1 แสนตัน เหลืออีก 9 แสนตัน ซึ่งหลังจากได้เจรจากันใหม่ ก็ได้ผลประโยชน์จากการขายข้าวให้คอฟโกเพิ่มขึ้น" รมว.พาณิชย์ ระบุ
ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังคงให้เดินหน้าเจรจาต่อไป เพราะแม้คู่เจรจาบางประเทศ เช่น สหภาพยุโรป(EU) แจ้งว่าจะไม่เจรจากับไทย แต่คิดว่าการค้ากับการเมืองต้องแยกออกจากกัน และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะมีการกลับมาเจรจาการค้าระหว่างกันอย่างแน่นอน