นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการวางแผนปฏิรูปภาษีสรรพสามิตโดยมุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บทั้งด้านการกำหนดโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจด้านโทรคมนาคมไม่ควรที่จะมีการจัดเก็บ ขณะที่ฐานการคำนวนการเก็บภาษีควรเท่าเทียมกัน เช่น รถยนต์ และสุรา พร้อมทั้งปรับลดอัตราภาษีที่เก็บจากน้ำมันและปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีให้เหมาะสม เพื่อให้มีส่วนต่างกับราคาแก๊สโซฮอล์มากขึ้น โดยเก็บภาษีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในผลิตภัณฑ์น้ำมันทุกชนิด ซึ่งการปรับขึ้นอัตราภาษีควรคำนึงถึงระบบการค้าและภาษีของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฏหมาย
“ภาษีสรรพสามิตที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน อาจจะต้องยกเลิก เช่น การเก็บภาษีสินค้าเครื่องดื่มบางตัว หรือภาษีกิจการโทรคมนาคม เพราะจะกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วอาจจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้ หรือมีการเก็บในอัตราที่ต่ำกว่ามาก" น.ส.ศิริญญา กล่าว
น.ส.ศิริญญา กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลจะมองว่าการเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นไปเพื่อสร้างรายได้ แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่าภาษีสรรพสามิต มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการกับภาระภายนอกที่เกิดจากสินค้าและบริการนั้นๆ ซึ่งควรเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดการเก็บภาษีสรรพสามิตมากกว่าการจัดเก็บเพื่อหารายได้เป็นหลัก
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะนำเสนอผลวิจัยให้กับกระทรวงการคลังพิจารณาตามแนวทางการปฏิรูปประเทศโดยเร่งด่วน เนื่องจากภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากการบริโภคสินค้าเพียงบางประเภทที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ ดังนั้นหากรัฐต้องการสร้างรายได้ควรใช้เครื่องมือทางภาษีอื่นมากกว่าภาษีสรรพสามิตและควรบูรณาการเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคธุรกิจ
"คาดว่าหลังจากวันที่ 22 ก.ย.นี้ ทางทีมงานวิจัยจะได้นำเสนอแนวทางในการปรับปรุงภาษีสรรพสามิตซึ่งได้จากผลงานวิจัยดังกล่าวนี้ นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสรรพสามิต, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปพิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการปฏิรูปโครงสร้างภาษีในภาพรวมทั้งระบบต่อไป"
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเห็นว่าควรมีการวางแผนการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตโดยมุ่งขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ เช่น กำหนดโครงสร้างภาษีหรือฐานภาษีให้ชัดเจน เหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องกำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสม โดยตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ที่แท้จริงและคำนึงถึงอัตราภาษีของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการบริหารจัดเก็บภาษีด้วย
“โดยระยะยาว เห็นควรมีการพิจารณาบูรณาการ 3 กรมจัดเก็บเข้าด้วยกัน และนำหลักกฎหมายสรรพสามิตที่ดีมาปรับใช้ ได้แก่ หลักความเป็นธรรม, หลักประสิทธิภาพ, หลักความโปร่งใส, หลักความง่ายต่อการปฏิบัติ และหลักความแน่นอน" น.ส.ศิริญญา กล่าว