ธ.ก.ส.หนุนสินเชื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร 9 ชนิด วงเงิน 3 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 16, 2014 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.จะสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทั้งในด้านการผลิตและด้านการตลาดในสินค้าเกษตรหลัก 9 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ลำไย กาแฟ และโคเนื้อ โดยในแต่ละผลผลิตต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตรวม ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain Financing) เพื่อให้องค์การของเกษตรกร เช่น สหกรณ์ หรือ สกต.สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่ชุมชน โดยตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ในปี 2557
"แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพรวบรวมผลผลิตหลัก สาขาของ ธ.ก.ส.จะดำเนินการร่วมกับวิสาหกิจชุมชน สกต.และสหกรณ์การเกษตร เพื่อรวบรวม จัดเก็บและแปรรูปให้อยู่ในกระบวนการขององค์กรเกษตรกรทั้งหมด ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อในกระบวนการผลิตเหล่านั้น รวมทั้งมีการจัดการทางการตลาด ผ่านระบบ E-marketing การสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพสูง ร่วมกับภาคราชการและพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตรให้สามารถทำหน้าที่เป็น Farmer’s market เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน"นายลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดประชุมสัมมนา สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศในหัวข้อ “สกต. ร่วมใจปฏิรูปเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปการดำเนินงานของขบวนการ สกต. และกำหนดรูปแบบการจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านขบวนการ สกต. การเพิ่มประสิทธิภาพ การรวบรวมผลผลิตของ สกต. ให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้ สกต.มีความเข้มแข็งสามารถยืนหยัดในการทำหน้าที่ในการให้บริการแก่สมาชิกและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในทิศทางดังกล่าวระหว่าง สกต. กับ ธ.ก.ส.จะเป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกันในการปฏิรูประบบสหกรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและชุมชนอย่างแท้จริง

อนึ่ง ธ.ก.ส.ได้จัดตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของสกต. มาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อเป็นกลไกในการสร้างพลังและอำนาจต่อรองทางการตลาดของเกษตรกร เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก การรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกไปจำหน่าย การแปรรูปผลผลิตของสมาชิกเพี่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างช่องทางการจำหน่ายผลผลิต และการให้บริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการผลิตให้แก่สมาชิก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ