บอร์ด รฟท.ไฟเขียว TOR จัดซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ใหม่ 7 ขบวน 4.8 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 17, 2014 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. วานนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขอบข่ายร่างเงื่อนไขประกวดราคา (TOR) การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงินรวม 4,855 ล้านบาท ด้วยวิธีการทางอิเลกทรอนิกส์

โดยมีข้อสังเกตุให้ปรับปรุง TOR ในประเด็นที่อาจกระทบทำให้มีการแข่งขันราคาได้น้อยราย ใน 3 ประเด็นคือ 1. เงื่อนไขขบวนรถใหม่ต้องสามารถวิ่งบนรางที่ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณของซีเมนส์ได้ ซึ่งเบื้องต้นผู้ผลิตจากจีน เกาหลีและซีเมนส์ สามารถยื่นเสนอราคาได้ 2. ยกเลิกเงื่อนไขการนำรถใหม่มาต่อพ่วงกับรถเก่าได้ เพราะหากผู้ชนะประมูลเป็นรถยี่ห้ออื่นจะเกิดปัญหายุ่งยากและเข้าข่ายทำให้มีผู้เสนอได้น้อยราย และ 3. ด้านประสิทธิภาพผู้ขายรถ ปรับเงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ในรอบ 10 ปีต้องมีการผลิตขบวนรถที่ยื่นประมูลไม่น้อยกว่า 100 ตู้เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 500 ตู้

"เป้าหมายของการจัดซื้อต้องเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันเสนอราคาได้มากราย ดังนั้นประเด็นที่จะล็อคทำให้รายอื่นเข้าประมูลไม่ได้ต้องพยายามตัดออก"นายออมสินกล่าว

ส่วนปัญหาการซ่อมบำรุงในปัจจุบันที่กระทบต่อการให้บริการนั้น นายออมสินกล่าวว่า ในหลักการจะเน้นความปลอดภัยสูงสุด จึงจะปล่อยรถออกมาให้บริการ ในขณะเดียวกันก็จะให้มีผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อยที่สุดเช่นกัน โดยการหยุดวิ่งนั้นจะเป็นมาตรการสุดท้ายในกรณีที่ขบวนรถมีความปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยขณะนี้มีขบวนรถพร้อมให้บริการที่ 5 ขบวน ซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีความถี่ 12 นาที นอกชั่วโมงเร่งด่วน ปรับเป็น 18-20 นาทีต่อขบวน ซึ่งไม่นานมากนัก ทั้งนี้เพื่อรักษาระยะในการให้บริการในช่วงที่รออะไหล่มาปรับเปลี่ยน

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า หลังจากนี้จะเร่งปรับปรุง TOR ตามความเห็นบอร์ด จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธี อี-ออกชั่น คาดว่าจะประกาศร่าง TOR ในเวปไซด์ เพื่อรับฟังความเห็นและเคาะราคาได้ภายใน 4-5 เดือน หรือลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลในเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2558

และใช้เวลาในการผลิตอีก 2 ปี หรือกลางปี 2560 จึงจะส่งมอบรถ 7 ขบวนได้ ซึ่งกรณีที่ระบบอาณัติสัญญาณเป็นของซีเมนส์นั้น จากการประเมินหากรื้อระบบใหม่จะใช้เงินหลายพันล้านบาท จึงเลือกแนวทางให้ผู้ผลิตรถไปเจรจากับซีเมนส์เพื่อนำระบบอาณัติสัญญาณมาติดในขบวนรถแทนซึ่งลงทุนน้อยกว่า และไม่เข้าข่ายล็อคสเปค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ