จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น
ประกอบกับในหลายพื้นที่ของประเทศเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายและมาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวลดลงจาก 103.1 ในเดือนก.ค. โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวถึงข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนส.ค.นี้ คือ อยากให้ภาครัฐเร่งรัดการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้มีการปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ออกมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC