อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรรัฐบาลในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในสำหรับการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และเพื่อใช้สำหรับรองรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 5.9 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ สบน.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาวงเงินที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ ตั๋วสัญญาใช้เงินว่าในแต่ละประเภทควรจะมีวงเงินเท่าใด เพื่อให้เกิดความเหมาะสม รวมทั้งการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร(Bond Switching) ด้วย
รายงานข่าวจาก สบน.ระบุด้วยว่า ในปีงบประมาณ 58-65 รัฐบาลมีแผนจะระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรเฉลี่ยปีละ 5.6 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้ใหม่ 3 แสนล้านบาท และ Rollover 2.6 แสนล้านบาท
นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน. เปิดภายหลังหารือกับผู้ร่วมตลาดว่า เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 58 สบน.จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงินประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 6-7% ของแผนระดมทุนของ สบน.ทั้งหมด โดยคาดว่าจะสามารถออกพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกได้ช่วงพ.ย.-ธ.ค.57 ส่วนวงเงินต้องขอประเมินอีกครั้ง
"ขณะนี้ สบน.มีแนวคิดจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ทุกๆ ไตรมาส จากปกติจะออกทุกๆ 4 เดือน ซึ่งในส่วนนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสม โดยต้องดูทิศทางตลาดด้วย" นายสุวิชญ กล่าว
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 58 รัฐบาลมีความต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 95,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็น การกู้เงินของ สบน.โดยเป็นการกู้แบบ Term Loan วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อไปลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน, รถไฟทางคู่ ซึ่งสบน.พิจารณาแล้วว่าจะเป็นการกู้แบบ Term Loan คงไม่ออกพันธบัตรแน่นอน เพราะแผนการใช้เงินของรัฐบาลเป็นแบบทยอยใช้ ทยอยเบิก ดังนั้นถ้าออกพันธบัตรจะมีผลในเรื่องของต้นทุน ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 45,000 ล้านบาทนั้น จะใช้เงินจากงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ สบน.
นายสุวิชญ ยอมรับว่า จากการประชุมกับผู้ร่วมตลาดในวันนี้ มีการสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 100 ปี ซึ่งสบน.ชี้แจงว่าเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น โดยหลักๆ ตอนนี้ สบน.จะออกเป็นพันธบัตร อายุ 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 30 ปี และ 50 ปี โดยพันธบัตร อายุ 5 ปี วงเงิน 18,000-20,000 ล้านบาท, อายุ 10 ปี วงเงิน 12,000-16,000 ล้านบาท, อายุ 15 ปี วงเงิน 8,000-10,000 ล้านบาท, อายุ 30 ปี วงเงิน 8,000-10,000 ล้านบาท และอายุ 50 ปี วงเงิน 8,000-10,000 ล้านบาท
ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สบน.ได้เปิดให้กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม)ที่สนใจสามารถเข้ามาออกบาทบอนด์ เพื่อใช้ในการระดมทุนเพื่อโครงการลงทุนในประเทศตัวเองได้ โดยล่าสุดมีการแจ้งความประสงค์มาแล้ว เช่น รัฐวิสาหกิจของลาว วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกพันธบัตรได้ในปีงบประมาณ 58
นายสุวิชญ ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจของประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐ ยังชะลอตัว ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้ รวมทั้งการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้คงไม่แตกต่างจากปีก่อน และปีหน้าก็คงไม่แตกต่างกัน โดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับหวือหวาจนสร้างความตื่นตระหนกแก่ตลาด
พร้อมมองว่า ในส่วนของประเทศไทยเองนั้น นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ก็มีนโยบายต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้นโยบายการเงินมาช่วยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วยอีกทาง