นอกจากนี้ ข้อดีของการนำเศษไม้ยางพารามาใช้ในโครงการเชื้อเพลิงชีวมวล คือ การสร้างรายได้อีกทางให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งปลูกยางกว่า 11 ล้านไร่ และเป็นต้นยางที่เริ่มหมดอายุกว่าปีละ 5 แสนไร่ ปัจจุบันมีการตัดอยู่ประมาณ 3 แสนไร่เพื่อปลูกต้นใหม่ทดแทน การตัดต้นยางตามอายุมีข้อดี คือ ลดปริมาณน้ำยางส่วนเกินและช่วยรักษาเสถียรภาพราคายาง เมื่อต้นยางหมดอายุ (ให้น้ำยางน้อย) จึงจำเป็นต้องตัด ก่อนหน้านี้เป็นภาระของเจ้าของสวนยางพาราต้องว่าจ้างให้คนมาตัดเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ ปัจจุบันเจ้าของโรงเลื่อยต้องรับภาระการตัดและซื้อต้นยางดังกล่าวไร่ละ 30,000 - 40,000 บาทต่อไร่ นอกจากนั้น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (กสย.) ยังจัดงบมาให้ไร่ละ 16,000 บาทเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับใส่ปุ๋ยและดูแลต้นยางพาราซึ่งชาวไร่จะทยอยเบิกในช่วงเวลา 4 ปีที่ต้นยางยังเล็กและให้ผลผลิตไม่ได้
ทั้งนี้ การตัดต้นยาง 3 แสนไร่ต่อปี ชาวไร่มีรายได้ไร่ละ 30,000 บาท จะเป็นเงินเก้าพันล้านบาทต่อปี ถ้าตัด 5 แสนไร่ต่อปีชาวไร่มีรายได้หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาทต่อปี สำหรับเศษเหลือทิ้งจากไม้ยางพารา อาทิ ราคากิ่งไม้ทำฟืนราคา 700 บาท/ตัน ปีกไม้ราคา 500 บาท/ตัน ไม้แปรรูปราคา 2,300 บาท/ตัน ขี้เลื่อยราคา 700 บาท/ตัน และ รากไม้ตันละ 400 บาท/ตัน
นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวเสริมว่า ควรมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างจริงจัง เพิ่มความมั่นคงด้านไฟฟ้า และดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของไม้ยางพาราที่มีการตัดอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี ปัญหาที่มีในขณะนี้ก็คือ อัตราส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของภาครัฐยังต่ำเกินไป ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ไปขอจำหน่ายไฟฟ้าไว้แล้ว แต่ไม่ดำเนินการได้เป็นจำนวนมาก ควรมีการยกเลิกใบอนุญาตบริษัทเหล่านี้ไปก่อนและเมื่อพร้อมลงทุนจึงมาขออนุญาตใหม่
"คงได้เวลาแล้วที่ภาคเกษตรต้องหันมามองเกษตร-พลังงาน จะทำอย่างไรให้ตลอด Value Chain มีการแบ่งปันตั้งแต่ชาวสวนยางจนถึงโรงไฟฟ้า ให้มีความร่ำรวยเท่าๆ กัน ใครลงทุนลงแรงมากก็ได้มากแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยเรามีทรัพยากรมากเพียงพออยู่แล้ว ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมก็ควรเดินหน้า “อุตสาหกรรมใหม่" เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จะขายเป็นวัตถุดิบราคาถูกๆ เหมือนเดิมคงไม่ได้ เพิ่มวิสัยทัศน์สร้างนวัตกรรม เสาะหาเทคโนโลยีดีๆ นำเข้ามาช่วยชาวสวนยางพาราให้หายจน"นายวิถี กล่าว