“เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าปีนี้อยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมามีการเติบโตไม่เต็มศักยภาพ ทำให้ฐานการเติบโตยังต่ำ แต่ปีหน้าเศรษฐกิจโต 4-5% ก็เป็นไปได้ ปัจจัยที่สำคัญเป็นเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าเกิดขึ้นจริงแล้วก็จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน ถ้าภาครัฐทำจริงๆ ก็จะไปช่วยให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะกลับมามากขึ้น ทำให้มีเงินออกมาหมุนเวียนในระบบและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย"นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่ประเมินว่าภาคการส่งออกในปีหน้ายังน่าจะชะลอตัวอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยนั้นมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและอัตราหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูง ทำให้การส่งออกไปยังจีนอาจจะยังเติบโตได้ไม่ดีนัก ประกอบกับ ปีหน้ากลุ่มสหภาพยุโรปจะยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ทำให้สินค้าที่ส่งเข้าไปขายจะมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น และยังไม่มีสัญญาณเชิงบวกว่าจะเศรษฐกิจยุโรปจะเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม ตลาดที่น่าสนใจในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทย คือ สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว และรัฐบาลสหรัฐยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้ง ประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่เริ่มเห็นศักยภาพการเติบโตชัดเจนขึ้น และกำลังซื้อขยายตัวขึ้นมาก เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เติบโตถึง 8%
ส่วนในภาคการเงินนั้น คาดว่าสินเชื่อรวมในประเทศปีนี้จะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 6-7% จากปี 56 ขยายตัวถึง 20% เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดีนัก และหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แต่ในระยะยาวคาดว่าหนี้ภาคครัวเรือนจะค่อยๆลดลงและไม่น่ากังวลมากนัก หากเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทในปีหน้ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง เป็นไปตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนที่เคยไหลเข้ามาลงทุนในไทยทยอยไหลออกไป ปัจจุบันค่าเงินบาทยังมีความผันผวนจากความไม่ชัดเจนของกระแสข่าวทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ทั้งนี้หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ผู้ที่มีสินเชื่อระยะยาวต้องเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว แต่ในระยะสั้นยังคาดว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% อีกระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศจนกว่าจะเห็นภาพการขยายตัวอย่างมีศักยภาพชัดเจนและต่อเนื่อง