ขณะที่บริษัทรุ่นเก่าๆ จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองขึ้นด้วย เพราะการแข่งขันในอนาคตจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งพันธสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ภายนอก และภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้การประกอบธุรกิจแต่ละประเภทนั้น มีการส่งออกส่วนหนึ่งเป็นหลัก และอีกส่วนหนึ่งให้มีสินค้าเหล่านี้ให้คนที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสใช้ ภายใต้คุณภาพสินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่มีราคาถูกกว่า และต้องคำนึงถึงการลงทุนเรื่องต้นทุนเป็นหลัก หากค่าแรงแพงจะแข่งขันได้ยาก อาจทำให้สินค้าไม่สามารถแข่งขันได้
"ทำอย่างไรจะให้ราคาสินค้าเราใกล้เคียงกับเขา แต่ขณะเดียวกันเราต้องพัฒนาคุณภาพให้ดีกว่า หรือมีความน่าสนใจและดึงดูดใจมากกว่า เชื่อว่า 21 บริษัทที่ได้รับรางวัลวันนี้เป็นอนาคตของประเทศไทยที่จะต้องสืบสานความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตที่เราจะต้องมีการแข่งขันกันมากมาย มีทั้งวิกฤติและโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้คือความท้าทายของประเทศไทยที่เราจะเดินไปข้างหน้าทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสังคมจิตวิทยา" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า ต้องการให้มีสินค้าภายใต้แบรนด์ของไทยมากขึ้น และมีการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา หรือแม้แต่ผักตบชวา โดยพัฒนาต่อยอดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าได้มากขึ้น ในขณะที่สินค้าโอทอปเองยอมรับว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย เพียงแต่ต้องปรับให้มีความทันสมัยและสามารถใช้งานได้จริงไม่ใช่เพียงการตั้งโชว์เท่านั้น รวมทั้งการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ซึ่งภาครัฐพร้อมที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องการทำตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ
"อยากให้เร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ปรับปรุงการคิดค้นออกไปสู่การผลิต และเป็นสินค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม" นายกรัฐมนตรี กล่าว