"นอกจากการวางแผนจัดหาไฟฟ้ามาเติมเพื่อความมั่นคงของระบบแล้ว ความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ร่วมกันประหยัดไฟฟ้าได้ช่วยผ่อนภาระทำให้ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้นำปัญหานั้นไปวางแผนแก้ไข โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 57 มีโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 เข้าระบบเสริมความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้อีก 766 เมกะวัตต์"นายอารีพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ในปี 56 มีทั้งสิ้น 2,115 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ตามปกติ ได้แก่ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม อ.จะนะ จ.สงขลา และ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช 1,773 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภาและเขื่อนบางลาง 300 เมกะวัตต์ และอื่นๆ อีก 42 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak) อยู่ที่ 2,683 เมกะวัตต์ จึงจำเป็นต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลางมาสนับสนุนอีก 400 เมกะวัตต์
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า การเปิดเวทีวันนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้รับทราบข้อเท็จจริง มีความเข้าใจ ได้แสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมในการจัดทำทิศทางพลังงานไทย ทิศทางพลังงานของภาคใต้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และจากนี้ทุกความคิดเห็นจากทั้ง 4 ภาค จะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การปฏิรูปพลังงานไทยให้ตอบสนองต่อทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่ง“พลังงานไทย"จะมีทิศทางใด กระทรวงพลังงานจะนำเสนอต่อเวทีรับฟังความเห็นอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2557
กระทรวงพลังงานเร่งปรับเปลี่ยนแผนพลังงานของประเทศในระยะยาว คือ แผนจัดหาเชื้อเพลิง แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ด้านที่ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อ 6.9 จะปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุน และให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย
รวมถึงดำเนินการให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรอบใหม่ทั้งในทะเลและบนบก และดำเนินการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งการใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงและจากพลังงานทดแทนทุกชนิด ด้วยวิธีการที่เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม พร้อมกับร่วมมือกับประเทศเพื่อบ้านในการพัฒนาพลังงาน