นายกฯ เผยชาวสวนยางรับปากยกเลิกม็อบ/กนย.อัดฉีด 3.3 หมื่นลบ.-ไม่เร่งระบายสต็อค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 19, 2014 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กนย.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยระยะเร่งด่วนคือให้เงินทุนเกษตรกรนำไปซื้อยางมาแปรรูป ส่วนระยะยาวก็มีแผนจะดำเนินการต่อไป แต่ยอมรับรับว่าปัญหายางต้องใช้เวลา 2-3 ปีภาพรวมยางจะดีขึ้นทั้งหมด เพราะรัฐบาลเน้นเรื่องการส่งเสริมการปลูก การเพิ่มงานวิจัย

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ไปพูดคุยในระดับไตรภาคีกับอินโดนีเซียและมาเลเซียในสัปดาห์หน้า โดยหวังว่าจะช่วยกันทำให้ราคายางดีขึ้น แต่ต้องอิงกับราคาตลาดโลก สำหรับทิศทางราคายางหลังจากนี้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ แต่มั่นใจว่าต้องขึ้น

นอกจากนี้ จะสนับสนุนการใช้ยางในประเทศให้มากกว่า 70% ของผลผลิตทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางให้มากขึ้น รวมทั้งการตัดต้นยางเก่า

ส่วนปัญหาม็อบนั้นได้มีการทำพันธะสัญญากันกับเกษตรกรแล้วว่าจะไม่มีการออกมาชุมนุม หลังทราบแนวทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจังของรัฐบาล พร้อมกันนี้รัฐบาลได้กำหนดการแก้ปัญหายางเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนระยะยาวจะมีแผนดำเนินการต่อไป

ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม กนย.ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกรรวมจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแรก 15,000 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อยางนำไปแปรรูป อีก 15,000 ล้านบาทให้ธนาคารออมสินปล่อยให้ผู้ประกอบการยางส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยางเช่น ถุงมือยาง เตียงนอนยาง และอีก 3 พันล้านบาท เป็นการข่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยผลิตไร่ละ 2,520 บาท

สำหรับสต็อกยางที่มีอยู่ 2.1 แสนตันนั้น รัฐบาลยังไม่มีแผนระบายสต็อกในตอนนี้ รอให้ภาวะตลาดและราคาดีจึงจะขาย นอกจากนี้อยู่ระหว่างการหา Special Order ซึ่งจะมีส่วนช่วยเรื่องดีมานด์ความต้องการ

นอกจากนี้ จะตั้งคณะอนุกรรมการอีก 1 ชุดเพื่อจะนำผลประชุมในวันนี้ไปหารือต่อในทุกๆประเด็น แล้วจะเรียกมาประชุมติดตามความคืบหน้างานอีก 1 เดือน

ส่วนเรื่องการลดพื้นที่ปลูกยางยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หาข้อสรุปให้ชัดเจน ว่าทำได้หรือไม่ และถ้าทำจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือไม่อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ