ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ไปพูดคุยในระดับไตรภาคีกับอินโดนีเซียและมาเลเซียในสัปดาห์หน้า โดยหวังว่าจะช่วยกันทำให้ราคายางดีขึ้น แต่ต้องอิงกับราคาตลาดโลก สำหรับทิศทางราคายางหลังจากนี้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ แต่มั่นใจว่าต้องขึ้น
นอกจากนี้ จะสนับสนุนการใช้ยางในประเทศให้มากกว่า 70% ของผลผลิตทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางให้มากขึ้น รวมทั้งการตัดต้นยางเก่า โดยแนวทางเพิ่มมูลค่ายางพารา ด้วยการแปรรูปจากเดิมมูลค่า 3 แสนล้านบาท ให้ขึ้นเป็น 3-4 เท่า โดยให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาดูแล เช่นการทำที่นอนจากยางพารา การทำถนน
ส่วนปัญหาม็อบนั้นได้มีการทำพันธะสัญญากันกับเกษตรกรแล้วว่าจะไม่มีการออกมาชุมนุม หลังทราบแนวทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจังของรัฐบาล พร้อมกันนี้รัฐบาลได้กำหนดการแก้ปัญหายางเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนระยะยาวจะมีแผนดำเนินการต่อไป
"ที่ประชุมเห็นชอบกับ 4 แนวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอมา และจะทำให้การแก้ปัญหาราคายางพาราเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนรองรับชัดเจน แต่ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี แก้ปัญหาได้ ทั้งนี้ผู้ผลิตและเกษตรกร ต่างเห็นด้วยกับแนวทางทั้งการโค่นต้นยางที่มีอายุ และชะลอการกรีดยาง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเป็นขบวนรถไฟสายยางพารา" นายกฯ กล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ 4 ประเด็นหลักในการแก้ปัญหายางพารา ประกอบด้วย 1. ต้องเร่งวางมาตรการทำให้ยางพาราที่ค้างอยู่ในประเทศใช้ให้หมดโดยเร็ว โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมในการนำยางพาราไปใช้ในกิจการต่างๆของรัฐ ทั้งโครงการสร้างถนน ระบบการป้องกันน้ำท่วม หรือกิจการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยางพารา ขณะเดียวกันในเรื่องการโค่นยางเพื่อลดอุปทานยาง ต้องวางระบบการดำเนินงานให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการเคลื่อนย้ายต้นยาง และกระบวนการช่วยเหลือเกษตรกรภายหลังการโค่นยางแล้ว เป็นต้น
2. สำหรับมาตรการระยะสั้น ต้องผลักดันให้เกิดการขายยางพาราได้จริง โดยรัฐบาลจะดูแลในเรื่องราคา เนื่องจากขณะนี้ตลาดอุตสาหกรรมขายกระดาษราคาตกต่ำลงมาก ดังนั้น ต้องหาผู้ซื้อจากตลาดที่มีการขายพาราให้มากยิ่งขึ้น
3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อควรขยายไปถึงกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ นอกจากสหกรณ์ เช่น วิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนนำยางพารามาแปรรูปมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการซื้อยางพาราภายในประเทศ เพื่อผลักดันให้ราคาสูงขึ้น
และ 4.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น รวมถึงการกำหนดราคายางร่วมกันกับต่างประเทศ และการเก็บสต็อคยางพาราร่วมกันกับต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้น
ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม กนย.ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกรรวมจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแรก 15,000 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อยางนำไปแปรรูป อีก 15,000 ล้านบาทให้ธนาคารออมสินปล่อยให้ผู้ประกอบการยางส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยางเช่น ถุงมือยาง เตียงนอนยาง และอีก 3 พันล้านบาท เป็นการข่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยผลิตไร่ละ 2,520 บาท
สำหรับสต็อกยางที่มีอยู่ 2.1 แสนตันนั้น รัฐบาลยังไม่มีแผนระบายสต็อกในตอนนี้ รอให้ภาวะตลาดและราคาดีจึงจะขาย นอกจากนี้อยู่ระหว่างการหา Special Order ซึ่งจะมีส่วนช่วยเรื่องดีมานด์ความต้องการ
นอกจากนี้ จะตั้งคณะอนุกรรมการอีก 1 ชุดเพื่อจะนำผลประชุมในวันนี้ไปหารือต่อในทุกๆประเด็น แล้วจะเรียกมาประชุมติดตามความคืบหน้างานอีก 1 เดือน
ส่วนเรื่องการลดพื้นที่ปลูกยางยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หาข้อสรุปให้ชัดเจน ว่าทำได้หรือไม่ และถ้าทำจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือไม่อย่างไร