อย่างไรก็ตาม จากมุมมองเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จึงเชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินในปีนี้อาจมีความจำเป็นน้อยลงกว่าปีก่อน เนื่องจากขณะนี้มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ประกอบกับ มีงบประมาณเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้มีนโยบายด้านการคลังเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งนโยบายการคลังมีผลทางตรงมากกว่านโยบายการเงิน ขณะที่ปัจจุบันนโยบายการเงินถือว่ามีความผ่อนคลายและเพียงพอในการเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะมีการนัดหารือร่วมกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ถึงกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 58 รวมถึงการหารือในเรื่องอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจด้วย
สำหรับนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น ธปท.ก็ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าภาพรวมราคาพลังงานในตลาดโลกไม่มีแรงกดดันไปในทางที่สูงมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วง Low Growth
"เชื่อว่ายังเอาอยู่ เรามองว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนกรอบและทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ" ผู้ว่าธปท. ระบุ
ส่วนผลจากการปรับโครงสร้างภาษีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงการคลังจะปรับอัตราภาษีในตัวใดบ้าง ซึ่งท้ายสุดจะต้องรอความชัดเจนทั้งแพ็คเกจก่อน รวมถึงทิศทางในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้
นายประสาร กล่าวถึงมาตรการที่ญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษี VAT ว่า มีผลต่อการบริโภคอุปโภค ดังนั้นเรื่องของจังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาความสัมพันธ์กับมาตรการอื่นๆ ด้วยว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ด้านการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะหมดวาระในเดือนก.ย.นี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน และจากนั้นจะคัดเหลือเพียง 4 คน เพื่อมาทดแทนกรรมการ กนง. 4 คนที่กำลังจะหมดวาระ
นายประสาร ยังกล่าวถึงกรณีที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องว่า การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังไม่ถือว่าเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาการลดลงดังกล่าวมาจากความกังวลกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐจะทยอยลด QE และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นหรือขายพันธบัตรที่เคยซื้อไว้ในก่อนหน้านี้เพื่อทำกำไร หรือเป็นการปรับพอร์ต ในขณะที่ปีนี้มองว่า Capital Flow ยังมีทั้งการไหลเข้าและไหลออกในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ไม่ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากกว่า
ส่วนผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและเงินทุนเคลื่อนย้ายในไทย จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วหรือช้ากว่ากำหนดนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า เรื่องนี้ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเซอร์ไพรส์ตลาด ซึ่งตลาดการเงินที่มีศักยภาพก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้ และไม่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งในส่วนของไทยเองเป็นประเทศเศรษฐกิจระดับกลาง และเป็นตลาดเปิด คงจะต้องมีการป้องกันตัวเองโดยวิธีที่ดีที่สุดคือการดูแลเศรษฐกิจในมิติที่สำคัญให้อยู่ในภาวะที่แข็งแรง สมดุล และไม่บิดเบือนตลาด โดยเชื่อว่าหากสหรัฐไม่ทำอะไรที่เป็นการเซอร์ไพรส์ตลาด ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและเงินทุนเคลื่อนย้ายในไทย
"ของเราคิดว่าสามารถรับได้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเราไม่อ่อนแอ แม้บางเวลาอาจจะมีการขาดดุลบ้างเล็กน้อย ส่วนเงินเฟ้อก็ไม่ได้เป็นประเด็นมาก เรายังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับในภูมิภาค อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความยืดหยุ่นพอประมาณ ขณะที่ผู้เล่นในตลาดก็มีความคุ้นเคย ภาคธนาคารพาณิชย์ของเราก็เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นถ้าสหรัฐไม่ทำอะไรเซอร์ไพรส์ตลาด ตลาดก็จะรู้ว่าจะต้องปรับไปในทิศทางใด เรายังมีเครื่องมือที่เป็นกันชนเก็บไว้ในกระเป๋า หากจำเป็นจึงค่อยนำออกมาใช้" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท.ยังกล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางโลกด้วยว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งที่ประชุมมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเฟดจะมีการทยอยลด QE ไปจนถึงเดือนต.ค.นี้ และอาจจะมีการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปี 5 ซึ่งการจะขึ้นปรับดอกเบี้ยเร็วหรือช้านั้น ต้องขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือภาคแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งหากตัวเลขออกมาดี ก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด
ส่วนภาวะเศรษฐกิจในยุโรปนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัว และยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านอุปสงค์ยังมีความอ่อนแอ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นนั้น แม้ GDP ไตรมาส 2 ปีนี้จะหดตัวแต่ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ขณะที่ GDP ไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังมีภาวะตึงตัวในเรื่องของตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
ผู้ว่าฯธปท. กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางโลกยังมีการพูดถึงสกุลเงินหลักอื่นๆ ที่ในอนาคตอาจจะนำมาใช้อ้างอิงแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐ เช่น เงินยูโร และเงินหยวนว่า ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีบทบาทสูงและยังสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าเงินสกุลอื่นๆ เพราะแม้ในอนาคตเงินยูโรและเงินหยวนอาจจะเข้ามามีบทบาทต่อตลาดการเงินโลกมากขึ้น แต่ในระยะสั้นนี้ถือว่ายังมีบทบาทน้อย เพราะเงินยูโรยังมีความเสี่ยงของแต่ละประเทศ ขณะที่เงินหยวนนั้นคงต้องใช้เวลา