ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้แบ่งส่วนที่จะพัฒนาเป็น Rubber City โดยใช้พื้นที่ที่เหลือประมาณ 755 ไร่ ของนิคมฯ ภาคใต้ ระยะ 3 เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยางพาราให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราในท้องตลาดให้ได้ราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ นิคมฯ ภาคใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,261ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณูปโภค 32.26 % ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 725 ไร่ ห่างจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา 47 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ 16 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ 15 กิโลเมตร
การพัฒนาเป็น Rubber City แยกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 516 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 239 ไร่ มีความพร้อมรองรับในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางสำหรับรถยนต์ ท่อยาง แปรรูปน้ำยางข้น แปรรูปไม้ยางพารา และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ประกอบด้วย Testing Lab, R / D / HRD Center, ศูนย์ข้อมูล / ศูนย์แสดงสินค้า, Logistics, ตลาดกลาง / คลังสินค้า รวมทั้งเป็นสถานฝึกอบรม / พัฒนาบุคลากร / สถาบันการศึกษาเกี่ยวกับยาว เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายว่าพื้นที่ใหม่นี้จะทำให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2 หมื่นตันต่อปี
"นิคมฯ ภาคใต้ สามารถรองรับอุตสาหกรรมยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ทดแทนนโยบายแทรกแซงราคายางพาราตกต่ำ สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากยางพารา ด้วยการเพิ่มการใช้วัตถุดิบและมูลค่าเพิ่มในประเทศ จากบทบาทผู้ผลิตวัตถุดิบไปสู่การเป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ยางอย่างเป็นรูปธรรม"
นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า กนอ. เตรียมพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 พื้นที่ ได้แก่ 1. ชายแดนแม่สอด จ.ตาก 2. ชายแดน จ.มุกดาหาร 3. ชายแดน อ.สะเดา (ด่านศุลกากรสะเดาและศุลกากรปะดังเบซาร์) 4. ชายแดน จ.ตราด 5 ชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้สามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.สะเดา (ด่านศุลกากรสะเดาและศุลกากรปะดังเบซาร์) ซึ่งอยู่ห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.สะเดา ประมาณ 50 กม. โดยจะสร้างเป็นศูนย์กระจายสินค้าหรือนิคมอุตสาหกรรมบริการด้าน Logistic และ SMEs Complex