ทั้งนี้ ตามประกาศดังกล่าวจะประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์หรือสัดส่วนที่กำหนด
2.มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยผู้ประกอบการจะต้องเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตที่มีอยู่เดิม
3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัย และออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการต้องเสนอแผนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด และจะต้องมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัย และพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก นับจากวันที่ยื่นขอรับส่งเสริม ในกรณีเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก นับจากวันที่ยื่นขอรับส่งเสริม
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการต่างๆ จะต้องดำเนินกิจการตามประเภทกิจการที่บีโอไอได้ประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ส่วนโครงการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) กำหนดให้มีเงินลงทุนเพียง 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ก็สามารถขอรับส่งเสริมได้ โดยจะได้รับสิทธิและประโยชน์ในการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง) โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นจะคำนวณจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
"ผู้ประกอบการที่สนใจ จะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม" เลขาธิการบีโอไอ ระบุ
ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่มียุทธศาสตร์หนึ่งในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยมีแนวทางสำคัญ อาทิ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานการผลิต ส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก เป็นต้น
นายอุดม กล่าวว่า ที่ผ่านมาบีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาแล้ว โดยเป็นหนึ่งในมาตรการย่อยภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้สิ้นสุดไปเมื่อปี 2556 ซึ่งพบว่ามาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในการยื่นแผนปฏิบัติงานตามมาตรการ จำนวน 81 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 17,785 ล้านบาท อาทิ กลุ่มเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก กิจการบริการและสาธารณูปโภค รวมถึงกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เป็นต้น โดยจากการประเมินพบว่า มาตรการดังกล่าวช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานของประเทศมูลค่ากว่า 1,794.6 ล้านบาทต่อปี และสามารถส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานจากฟอสซิลหรือน้ำมันมากขึ้น